วันที่ 23 ก.พ. 2565 ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงอายุ 71 ปี มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง และได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็มและไฟเซอร์ 1 เข็มเมื่อเดือนธ.ค. 2564 เข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาลเอกชนย่านวิภาวดี เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งกับคนไข้ว่าให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี แต่หากประสงค์จะรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าวต้องจ่ายเงินค่ามัดจำก่อน 30,000 บาท และต้องชำระค่ารักษาเอง เมื่อสอบถามไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิพบว่าเตียงเต็ม
ตรีชฎา ระบุว่า อยากสอบถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาาโหมในฐานะ ผอ.ศบค. และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าในภาวะที่การระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ติดเชื้อยืนยันทะลุ 20,000 คน และผลตรวจจาก ATK มีผู้ติดเชื้ออีกเกือบ 17,000 คน เหตุใดโรงพยาบาลเอกชนสามารถละเมิดคำสั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ชะลอการยกเลิกการกำหนดให้ผู้ติดโควิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน (UCEP) ที่เพิ่งมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 เท่ากับว่าโควิด-19 จึงยังเป็นโรคฉุกเฉิน รักษาฟรีได้ทุกสิทธิ โรงพยาบาลเอกชนจะปฏิเสธไม่ได้ หรือเป็นเพราะรัฐบาลถังแตก เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้กับ สปสช. เพื่อนำไปจ่ายค่ารักษาโควิดให้กับโรงพยาบาลเอกชนกันแน่
"สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้โรงพยาบาลรัฐเตียงเต็ม แม้จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงยังไม่มีเตียงรักษา สรุปคือ รัฐบาลผลักความเจ็บป่วยให้เป็นภาระของประชาชน รัฐบาลกำลังละทิ้งให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองตามอัตภาพ ช่วยตัวเองเท่าที่ทำได้ ใช่หรือไม่ แล้วประชาชนจะมีรัฐบาลไว้ทำไม หากต้องดูแลตัวเองท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ "
ตรีชฎา กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้โรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง รัฐบาลกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 47 (วรรค 3) บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นการบริหารจัดการโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดและยังเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการป้องกันรักษา ไม่ปล่อยให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองเหมือนกับกรณีโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง
“พรรคเพื่อไทยได้เตือนรัฐบาลมาโดยตลอดว่าสถานการณ์โควิดจะหนักขึ้น และขอให้รัฐบาลจัดการระบบการรักษาต่อประชาชนให้ดี เพราะเชื้อโอไมครอนติดง่ายมาก ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายอย่างรวดเร็วทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ วานนี้พบว่ามีประชาชนโทรศัพท์มาที่ สปสช.ทั้งหมด 49,005 คู่สาย มีผู้ถือโทรศัพท์รอสายจำนวน 50 คู่สายสายต่อวินาที ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหากเจอปัญหาเรื่องการรักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้น การต่อแถวรอการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ คนนอนตามถนน ยอดคนตายจากโรคโควิดจะพุ่งไม่หยุด คนที่รับกรรมคือประชาชน” ตรีชฎา กล่าว