วันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จำนวน 11 คน เป็นวันที่สี่ ซึ่งเป็นการอภิปรายวันสุดท้าย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชอา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่มีเครื่องยนต์ ซื้อ UAV ไร้อาวุธ สู้การจัดซื้อเครื่องบินใหม่ทางยุทธศาสตร์ F-35 ไม่มีอาวุธ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ และความหิวโหยของพี่น้องประชาชน
ยุทธพงศ์ เริ่มที่การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจากประเทศจีน เมื่อเร่ิมแรก เรือดำน้ำ เป็นการจัดซื้อแบบโปรโมชั่น คือซื้อสองลำ แต่แถมฟรีอีก 1 ลำ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 ยังตัดพ้อบอกกองทัพฯ ว่ามีเงินน้อย แต่เมื่อดูราคาที่มีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ราคาดังกล่าวได้มาจากสัญญาที่เป็นทางการจากกองทัพเรือเรียกว่า Price Breakdown ที่ได้มาจากคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณฯ เป็นการจัดซื้อ 3 ลำ ไม่ใช่ซื้อ 2 แถม 1 ราคาส่วนประกอบต่างๆ จะคูณ 3 ทั้งหมด เพราะซื้อมา 3 ลำ ทั้งหมดนี้ราคารวมจำนวน 6,120 ล้านหยวน ภาษีมูลค่าเพิ่ม 428 ล้านหยวน รวมเป็นเงิน 6,548 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 36,000 บาท แสดงให้เห็นว่า เรือดำน้ำราคาต่อ 1 ลำ 12,000 ล้านบาท
ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า รุ่น S26T (Yuan Class) จำนวน 3 ลำ ที่กองทัพเรือไทยซื้อจากประเทศจีน มูลค่า 12,424 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการดำเนินการต่อเรือ และเกิดปัญหาคือไม่มีเครื่องยนต์ที่จะดำเนินต่อ ส่วนเรือดำน้ำจีนลำที่ 2 และ 3 มูลค่า 22,500 ล้านบาท ตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 - 2569 ขณะนี้ยังไม่ได้ซื้อ เพราะพรรคเพื่อไทยได้คัดค้านไว้ และเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ militaryleak ระบุว่า ทางเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยแจ้งว่า ทางการจีนยังไม่ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องยนต์จากเยอรมันก่อนที่จะมีการลงนามขายเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือไทย และไทยรัฐรายงานว่า จุดจบเรือดำน้ำ ซื้อเรือไร้เครื่อง กองทัพเรือเดิมพัน 60 วันชี้ชะตา ซึ่งเครื่องยนต์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด โดยประเทศจีนต้องซื้อจากประเทศเยอรมัน แสดงให้เห็นว่า ตอนที่ไปทำสัญญาที่ไปซื้อ กองทัพเรือไทยไม่ได้มีความระมัดระวังปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เส้นตายในวันที่ 9 ส.ค. 2565 จีนไม่สามารถหาเครื่องยนต์มาใส่เรือดำน้ำให้ไทยได้ และกองทัพเรือได้หารือกับบริษัท CSOC เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนเพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเครื่องยนต์ โดยทางการจีนเสนอเครื่องยนต์รุ่นอื่นมาใส่แทนเครื่องยนต์จากเยอรมัน แต่ทางกองทัพเรือยืนยันความต้องการเครื่องยนต์เยอรมัน และขอให้ทางการจีนแก้ไขปัญหาใน 60 วัน ปัญหาคือ ซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ สร้างความเดือดร้อนให้หน่วยงาน และงบประมาณ
ขณะที่สัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นแบบ G2G มาจากการที่กองทัพเรือเซ็นกับบริษัท CSOC ประเทศจีน โดยสัญญาระบุว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ซึ่งจริงๆ แล้วมันสามารถยกเลิกได้ ในข้อ 5.2 ที่ระบุไว้ว่า ถ้าฝ่ายจีนไม่สามารถสร้างเรือดำน้ำให้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญานี้ได้ ทางการไทยมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาโดยไม่เสียค่าปรับ และสามารถเรียกร้องเงินจำนวนประมาณ 7,000 พันล้านบาท ตามที่ได้จ่่ายไป ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหา ทั้งที่มีช่องทางในการแก้ไข
นอกจากนี้ ยุทธพงศ์ อภิปรายว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย 44,222 ล้านบาท เพราะการซื้อเรือดำน้ำไม่ได้ซื้อแค่ตัวเรือ แต่ยังมีเรือพี่เลี้ยงเพื่อสนับสนุนเรือดำน้ำในการปฏิบัติการทางทะเล รวมถึงอุปกรณ์คลังอาวุธต่างๆ ซึ่งในเงินจำนวนนั้นประกอบไปด้วย เรือดำน้ำ ระยะที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 12,424 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ งบประมาณ 4,385 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ระยะที่ 2 งบประมาณ 1,800 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ งบประมาณ 22,500 ล้านบาท (ยังไม่ได้จ่ายเพราะพรรคเพื่อไทยคัดค้าน)
อีกทั้งโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือ และอาคารสนับสนุน ระยะที่ 1 งบประมาณ 900 ล้านบาท โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ฐานทัพเรือสัตหีบ ระยะที่ 2 งบประมาณ 950 ล้านบาท โครงการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ งบประมาณ 995 ล้านบาท โครงการอาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี งบประมาณ 138 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างอาคารทดสอบ พร้อมคลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิด งบประมาณ 130 ล้านบาท
ยุทธพงศ์ กล่าวถึง ‘ค่าโง่เรือดำน้ำ’ อีกว่า จำนวนงบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท ที่กองทัพเรือใช้ไปนั้น จะเห็นว่า นอกจากเรือดำน้ำ 3 ลำ ยังมีเรือ LPD หรือเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมถึงท่าจอดเรือ คลังเก็บอาวุธ และมีค่าโง่ที่ต้องจ่าย 21,722 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ไม่มีเรือดำน้ำ
ต่อมาในปีงบประมาณ 2565 นั้น กองทัพเรือได้มีการขอจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV 3 ลำ มูลค่า 4,100 ล้านบาท พร้อมระบบที่ติดตั้งสำหรับการปฏิบัติการ และติดตั้งอาวุธ และได้มีการจัดซื้อ UAV ยี่ห้อ Hermes 900 เป็น UAV เปล่าๆ ไม่มีอาวุธ และก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยตกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือเพียงต้องการใช้งบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ใดๆ
ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องของการจัดซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ F-35A แม้ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. แจงว่า สามารถนำทัพฟ้าหลุดพ้นจากภัยคุกคาม เพราะล่องหนหายตัวได้ บินด้วยท่าทางพิสดาร มีกล้องรอบตัว บินเร็วเหนือเสียง และควบคุม UAV ได้ แต่ภาวะงบประมาณของประเทศมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พ.ค. 2565 เป็นหนี้รวม 10.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 ของจีดีพี ซึ่งการขอยายเพดานเงินกู้จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ผิดวินัยการเงินการคลังอย่างร้ายแรง
ในคำขอที่รับหลักการขอซื้อ F-35A ใน พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งราคาตกลำละ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 2,900 ล้านบาท เป็นเครื่องบินเปล่าไม่มีอาวุธ แต่ถ้าหากบวกระบบอาวุธจะเป็น 110.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 4,100 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบินจะเสียค่าเชื้อเพลิงชั่วโมงละ 1.3 ล้านบาท และขณะนี้ปัญหาคือ เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 15 ปี 8 เดือน แต่เงินดอลลาร์แข็งขึ้น เพราะมีแรงหนุนจากแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย การอนุมัติขายเครื่องบินรบ F-35A ขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ต้องพิจารณาผ่านสภาคองเกรส แม้ว่าไทยจะเป็นพันธมิตรนอก NATO แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายให้
โดย ผบ.ทอ. ได้มีการยืนยันกับทางกมธ.งบประมาณฯ ว่า ได้มีการจัดซื้อ F-35A ไม่มีอาวุธ จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท แต่งบประมาณที่กองทัพอากาศเคยได้ไปนั้น รวมเงินคงค้างอยู่จำนวน 1,283 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณประจำปี 2564 และในปีงบประมาณ 2566 ไม่ได้มีการขอตั้งงบแต่อย่างใด และเมื่อซื้อ F-35A แล้ว จะไม่มีงบไปพัฒนาในด้านอื่นของกองทัพอากาศเป็นเวลา 10 ปี เพราะเพดานเงินงบประมาณนั้นเต็มแล้ว ทั้งที่กองทัพอากาศมีความจำเป็นต้องจัดซื้อเรดาร์ต่างๆ และอาวุธในการติดเครื่องบินรบ F-35A และต้องตั้งงบประมาณผูกพันอีก 10 ปี เพื่อซื้อให้ครบฝูงบิน 1 ฝูง
ยุทธพงศ์ อ้างว่า ขณะที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ ทอ. ยืนยันว่า F-35A ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แม้จะตอบโจทย์ เพราะเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัย หากไม่ผ่านงบฯ ปี 2566 ก็สามารถเสนอใหม่ปีหน้าได้ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควรนำเงินไปช่วยพี่น้องประชาชนก่อน รวมถึงเอกสารงบประมาณของกองทัพอากาศปี 2566 ที่นำเสนอโดย ผบ.ทอ. ต่อกมธ.งบประมาณว่า กระบวนการในการขายทางทหารจากต่างประเทศเรียกว่า FMS (Foreign Military Sales) ซึ่งจะรู้ผลการขอข้อมูลเกี่ยวกับราคา และการผลิตในปี 2566 ดังนั้นจึงต้องไม่มีความจำเป็นต้องรีบตั้งงบประมาณ
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรเลือกความอดอยากหิวโหยของประชาชน แต่กลับไปอนุมัติให้ซื้อเครื่องบินรบ F-35A จึงไม่อาจไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปได้