ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดี ม112 ของ 'แอมมี่-ปูน' กรณีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ไปเป็นวันที่ 25 เม.ย. 67 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ป่วย ไม่สามารถมาศาลได้

26 มี.ค. 2567 ศาลอาญารัชดา นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” และ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 เฉพาะไชยอมร ยังถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ภาพเหตุการณ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 25 เม.ย. 2567 เนื่องจากแอมมี่ป่วยไม่สามารถมาศาลได้ พร้อมส่งใบรับรองแพทย์มายืนยันกับศาล

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สำหรับคดีนี้มี พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เป็นผู้กล่าวหา โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 จำเลยได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดเผาพระบรมรูปฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งได้ประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม อันเป็นทรัพย์สินของกลางของเรือนจำ จนไฟได้ลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโครงสร้างไม้และเหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับจนได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 6 รายการ และค่าติดตั้ง 1 รายการ รวมความเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 60,000 บาท

ต่อมา ไชยอมรได้โพสต์รูปภาพที่ไฟกําลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ในบัญชีเฟซบุ๊ก และมีการพิมพ์ข้อความว่า “สื่อคงไม่กล้าออก มิตรสหายท่านหนึ่งแจ้งว่าเมื่อคืนเกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฯ ที่หน้าเรือนจําคลองเปรม คนละ 1 แชร์แด่อิสรภาพ #ปล่อยเพื่อนเรา”

วันที่ 3 มี.ค. 2564 ไชยอมรได้ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา และถูกนำตัวไปขอฝากขัง ซึ่งเขาไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 69 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาต่อสู้คดี 

ส่วนธนพัฒน์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วย เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยในชั้นศาล

สำหรับการสืบพยานคดีนี้ จำเลยทั้งสองได้ให้การรับว่าได้เผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด ทำให้มีการรับพยานปากต่างๆ ของฝ่ายโจทก์ เหลือพยานที่นำมาสืบจำนวน 2 ปาก เมื่อวันที่ 23 และ 28 ก.พ. 2566 ได้แก่ พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ผู้แจ้งความ และ  พ.ต.ต.หัสนัย เฟื่องสังข์ พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น

ด้านฝั่งจำเลยนำพยานนักวิชาการเข้าเบิกความจำนวน 1 ปาก คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566

คดีนี้ศาลยังพิจารณาคดีโดยวิธีการบันทึกภาพและเสียง ไม่มีการทำบันทึกคำเบิกความ โดยให้คู่ความสามารถดูเทปบันทึกการสืบพยานย้อนหลังได้ แต่ไม่อนุญาตให้คัดลอกไฟล์หรือนำกลับไปดูที่บ้าน และเจ้าหน้าที่ศาลจะทำสรุปคำเบิกความให้ ทั้งนี้ สรุปคำเบิกความไม่ถือเป็นคำเบิกความ

ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลย คือ จำเลยทั้งสองรับว่าการเผาพระบรมฉายาลักษณ์นั้นเป็นการเพื่อสื่อถึงนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ แต่ไม่ได้มุ่งหมายหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเผาเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนหรืออันตรายต่อตัวบุคคลพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด