ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เลิกผูกขาดแค่คณะรัฐประหาร หยุดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ต้องเยียวยาผู้สูญเสียชีวิตด้วย

1 ก.พ. 67 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ

โดย พิธา กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย และไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเสมอไป ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งหมด 22 ครั้งด้วยกัน และถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ คืนพ่อให้กับลูกสาวที่ยังเล็กได้ เพื่อให้คนที่อยู่ในต่างประเทศที่มีความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐกลับมาสู่มาตุภูมิประเทศของเขา ตนจึงคิดว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือมีภาพที่เป็นลบตลอดเวลา  

"ผมคิดว่าโอกาสในการรับนิรโทษกรรม ไม่ควรผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือคนที่คิดที่จะล้มล้างการปกครอง เพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่จะบ่อนเซาะ ต้องการที่จะทำลายระบบ ประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว"

จากนั้น พิธา หยิบเอกสารจากสภาฯ ขึ้นมาอ้างอิง พร้อมระบุตั้งแต่ปี 2475-2557 ไม่ว่าจะครั้งไหน มีเพียงแค่ 2521 ครั้งเดียว ที่เป็น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นอกจากนั้น มีแต่นิรโทษกรรมผู้กระทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะ 'กบฏ' นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรม อยู่กับการรัฐประหารเพียงอย่างเดียว 

พิธา กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่เรื่องการให้พ้นผิดทางกฎหมาย ภาษาอังกฤษ คือ Amnesty มาจากภาษากรีก แปลว่า ทำให้ไม่ต้องจำ ทำให้ลืมไป ต้นคิดว่าประเทศไทยต้องก้าวผ่านเรื่องแค่การพ้นผิดทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เราควรที่จะคิดเรื่องนี้ว่าเป็นโอกาสสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เราควรมีการป้องกัน ไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น ทำให้เกิดการเสาะหาข้อเท็จจริงขึ้น รวมถึงการรับผิดชอบต่อสาธารณะ จึงจะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นในชาติได้จริง  

"นี่จึงเป็นโอกาสที่สังคมไทยจะก้าวเกินกว่าแค่เรื่องการนิรโทษกรรม เพราะเป็นแค่จุดจุดหนึ่งเท่านั้นในการจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองประเทศไทยลดน้อยลง และมีเสถียรภาพ มีสมาธิพอที่จะใช้พลังของพวกเราในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเมืองเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการศึกษาก็ตาม"  

พิธา ย้ำว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประหาร แต่ควรคิดที่เหยื่อ คนที่ถูกทำรัฐประหาร เราต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจากรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการทำรัฐประหาร ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะแค่พูดออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องอื่นเช่นการติดคุกทวงคืนผืนป่า หรือคนที่ถูกรัฐฟ้องปิดปากประชาชน 

ถ้าเราตั้งหลักกันได้ ว่าเวลา ที่จะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ หากฟังที่ตนพูดก็จะรู้ได้ว่าอย่างน้อยย้อนหลังไปถึงปี 2549 ใครที่จะได้รับนิรโทษกรรม ก็คงจะเดาออก ส่วนกระบวนการที่จะทำไม่ใช่แค่บอกว่ายุติคดีทางอาญาแต่คือการเยียวยาการออกมารับผิดชอบสร้างสาธารณะ ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมของคนที่สั่งฆ่าแต่จะต้อง ดูคนที่ถูกฆ่าด้วย พูดในมุมของคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพในการอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบบรรลุไปถึงเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการ ณ ปัจจุบัน 

พิธา ทิ้งท้ายว่า ถ้าหากทำแบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เราจะสามารถตั้งต้นทั้งสามอธิปไตยของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

  1. ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี สามารถสั่งตำรวจได้เลย ชะลอคดี 
  2. ฝ่ายอัยการศาล ต้องวินิจฉัยคดี ด้วยความรัดกุม รอบคอบ บนฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้นไม่ใช่เอาอารมณ์ หรืออะไรอย่างอื่นมาตัดสินด้วย 
  3. ฝ่ายรัฐสภา อภิปรายความแตกต่าง ของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน และรวมถึงข้อคิดเห็นของประชาชนด้วย