ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ. อิตาลีมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 655 ราย ขณะที่สัดส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่งอยู่ที่ 17 รายเท่านั้น แต่นั่นเป็นวันเดียวกันกับที่ ‘นิโกลา ซินกาเรตตี’ หัวหน้าพรรคเดโมเครติกซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายกลางที่สนับสนุนรัฐบาลอิตาลีชุดปัจจุบันโพสต์ภาพของตัวเองกำลังดื่มด่ำกับกิจกรรมจิบแอลกอฮอล์หลังเลิกงานหรือวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘อะเพอริทิโว’ (Aperitivo) พร้อมกระตุ้นให้ประชาชน “ไม่ต้องเปลี่ยนนิสัยอะไรทั้งนั้น”
10 วัน หลังการโพสต์ภาพดังกล่าว ตัวเลขผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นเป็น 5,883 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 233 ราย ขณะที่ ‘ซินกาเรตตี’ ก็ออกมาประกาศว่าตัวเขาเองติดเชื้อไวรัสนี้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อในอิตาลีพุ่งทะลุ 53,000 ราย รวมถึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,800 ราย อีกทั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางการยังออกมาประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตภายในวันเดียวที่สูงถึง 793 ราย โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดตอนนี้ส่งผลให้อิตาลีกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกและกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของโลกแทนประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว
มาตรการหลากหลายถูก ‘จูเซปเป คอนเต’ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันสั่งการลงมา ทั้งการนำกำลังทหารเข้าปิดแคว้นลอมบาร์ดีทางตอนเหนือของประเทศ ที่เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด รวมไปถึงการประกาศห้ามประชาชนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านเรือนแทบทั้งหมด แม้แต่การออกมาเดินเล่นหรือการวิ่งออกกำลังกายก็ไม่ได้
‘จูเซปเป’ ยังออกมาประกาศสั่งปิดโรงงานการผลิตที่ไม่จำเป็นจริงๆ กับประเทศแทบทั้งหมด พร้อมย้ำว่าสถานการณ์ที่ประเทศเผชิญอยู่นั้นถือเป็นความยากลำบากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ไม่ว่าอิตาลีจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากแค่ไหนในตอนนี้ ความผิดพลาดที่สุดของของประเทศเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเสียโอกาสควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงแรกไปแล้ว เพราะสิ่งที่อิตาลีเลือกทำ การปิดที่ละเมือง ปิดทีละแคว้น แล้วค่อยมาปิดประเทศ เป็นการเดินตามหลังเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงถึงชีวิตมาตลอด
‘แซนดรา ซัมปา’ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลียอมรับว่า “ตอนนี้เรากำลังวิ่งตามหลังมัน” และในทุกๆ วันที่เป็นอยู่ “คุณยอมสูญเสียชีวิตแบบปกติไปทีละนิด เพราะเชื้อไวรัสไม่ยอมให้คุณมีชีวิตแบบปกติ”
แม้ฝั่งเจ้าหน้าที่ของอิตาลีจะออกมาแก้ตัวว่ารัฐบาลตอบสนองด้วยความเร็วและความสามารถอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งยังย้ำว่าการแพร่ระบาดเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคสมัยใหม่ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติและแนวทางการดำเนินงาน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สย้ำว่า ข้อมูลทั้งหมดชี้ว่ารัฐบาลไม่ฉวยโอกาสที่ควรจะหยิบฉวยเอาไว้ทั้งยังเลือกใช้มาตรการสำคัญแบบผิดๆ
ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด กลยุทธ์ที่นายกรัฐมนตรีอย่างนายจูเซปเปเลือกใช้คือการสร้างความสับสนและความเข้าใจที่ผิดๆ ด้วยการโทษการตรวจโรคจำนวนมากในแคว้นทางเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่มากขึ้น และแม้แต่ในตอนที่รัฐบาลยอมรับว่าจำเป็นต้องมีการปิดเมืองแล้ว รัฐบาลก็ยังพลาดซ้ำเรื่องการสื่อสารกับประชาชนถึงความรุนแรงของโรคดังกล่าว ส่งผลให้มีช่องว่างจากการปฏิบัติตัวของประชาชน และเป็นชนวนในการแพร่ระบาดอย่างควบคุมไม่ได้ที่เป็นอยู่
‘ลิวกิ ดิ ไมโอ’ อดีตผู้นำพรรคการเคลื่อนไหว 5 ดาว (Fivr Star Movement) กล่าวว่า “ในอิตาลี เราเริ่มจากความเสี่ยงของโรคระบาดมายังความเสี่ยงของข้อมูลระบาด”
ประเด็นโครงสร้างทางการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่พาประเทศอิตาลีเผชิญกับวิกฤตที่เป็นอยู่ โดย 'วอลเตอร์ ริคซิอาร์ดิ’ สมาชิกบริหารองค์การอนามัยโลก (WHO) และที่ปรึกษาระดับสูงของกระทรวงงสาธารณสุข ออกมากล่าวว่าอิตาลีได้ทำทุกอย่างตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีในช่วงเวลานั้นๆ แล้ว แต่ “มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม”
อีกทั้ง ‘วอลเตอร์’ ยังยอมรับว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลีไม่มีความสามารถเพียงพอในการชักจูงให้คณะรัฐมนตรีตื่นตัวได้เร็วกว่าที่ควร และส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองภายในประเทศที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่าง โรม และแคว้นอื่นๆ
‘วอลเตอร์’ เสริมว่า ในช่วงเวลาสงคราม หรือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเช่นนี้ ระบบแบบนั้นเป็นปัญหาอย่างใหญ่หลวงในการจัดการกับปัญหา “ถ้าเป็นผม ผมก็แค่จะออกมาตรการต่างๆ 10 วันก่อนหน้า(วันที่รัฐบาลเลือกออก) มันต่างกันแค่นั้นจริงๆ”
วันที่ 8 มี.ค. เวลา 02.00 น. ‘จูเซปเป’ ตัดสินใจใช้นโยบายห้ามการเคลื่อนไหวของประชาชนกับประชากร 1 ใน 4 ของอิตาลีทั้งหมดในแคว้นทางตอนเหนือ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 7,375 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตคือ 366 ราย โดยในการประชุมครั้งนั้น ‘จูเซปเป’ ย้ำว่า “เรากำลังเผชิญหน้ากับเหตุฉุกเฉิน ความฉุกเฉินระดับประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.หยุดการเคลื่อนไหวของประชาชน รั่วไหลไปถึงมือสื่อมวลชนตั้งแต่วันเสาร์ที่ 7 มี.ค.แล้ว ส่งผลให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมิลานพากันเดินทางไปยังสถานีรถไฟอย่างแน่นขนัดเพื่อหนีออกจากแคว้นทางตอนเหนือ สิ่งเป็นชนวนหลักให้กระแสคลื่นพาหะมนุษย์เคลื่อนที่จะแคว้นทางตอนเหนือไปสู่ตอนใต้ของประเทศ
แม้จะมีประกาศรวมถึงร่าง พ.ร.บ.ที่หลุดออกมา แต่สถานการณ์ ณ ตอนนั้น ประชาชนชาวอิตาลีส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นมากนัก รวมถึงสับสนกับมาตรการเข้มงวดของทางการ
ภายหลังทางการจึงต้องออกมาประกาศมาตรการการห้ามเคลื่อนย้ายที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การต้องกรอกแบบฟอร์ม “ใบอนุญาตรถยนต์” เพื่ออนุญาตให้ผู้คนเดินทางเข้าออกพื้นที่กักขังได้เพื่อการทำงาน สุขภาพ และ ความจำเป็น “อื่นๆ” ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการของแคว้นต่างๆ ก็ออกประกาศสั่งให้ผู้คนที่มาจากเขตปิดเมืองต้องกักตัวเอง ขณะที่คนอื่นๆ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ในวันที่ 9 มี.ค. เพียง 1 วันให้หลังจากประกาศปิดเมืองดังกล่าว ตัวเลขผู้ติดเชื้อในอิตาลีพุ่งขึ้นเป็น 9,172 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 463 ราย ส่งผลให้ ‘จูเซปเป’ ตัดสินใจยกระดับการปิดเมืองในแคว้นทางเหนือเป็นการปิดทั่วประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาเปิดเผยในตอนหลังว่า การกระทำเช่นนั้น ในเวลาเช่นนั้น มันสายเกินไปแล้ว
แม้สถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่วิกฤตรุนแรงเท่าอิตาลี แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดขึ้นทุกวัน จากหลักหน่วยมาหลักสิบและมาหลักร้อย
ทีมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคเองก็ออกมาย้ำอยู่ตลอดว่า เป้าหมายหลักในการปิดกรุงเทพมหานครเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ ก็เพื่อให้หยุดการเคลื่อนที่ของประชาชน โดยเฉพาะเป็นการลดความเสี่ยงการนำเชื้อไปสู่ประชาชนในต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม หลังกรุงเทพฯ ประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ในวันเสาร์ที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนก็พากันเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมอย่างแน่นขนัดทั้งที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงไปจนถึงสถานีขนส่งหมอชิต
เหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกับกรณีที่ชาวมิลานหนีออกจากเมืองค่อนข้างมาก เนื่องจากมีประกาศปิดเมืองออกมา ภาครัฐกลับไม่ได้มีประกาศที่ชัดเจนเกี่ยวกับการหยุดการเคลื่อนที่ของประชาชน รวมถึงนโยบายที่จะมารองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการไม่มีงานทำในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เรารับรู้อย่างแน่นอนที่สุด คือกระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องการให้ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเป็นพาหะสูง เดินทางไปยังต่างจังหวัดที่ไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อมาก่อน เพราะหากเชื้อกระจายตัวไปทั่วแล้ว ศักยภาพและบุคลากรทางแพทย์ที่มีเพียงพอในปัจจุบันจะไม่เพียงพอต่อการรักษาอีกต่อไป ซึ่งก็ดูเหมือนว่า การปราศจากนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเคลื่อนย้ายคนจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของทีมแพทย์อย่างชัดเจน
อ้างอิง; NYT