ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจรถไฟ ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ 'เพื่อไทย' กรณี บก.รฟ.ถูกยุบ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ มีผลภายใน 1 ปี ชี้ไม่เป็นธรรม กระทบตำรวจชั้นผู้น้อยและประชาชน ด้าน 'ชลน่าน' รับเรื่องตรวจสอบ

วันที่ 28 พ.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.ท.สมควร ปั้นนักอินทร์ รอง สว. (ป.) ส.รฟ.นพวงศ์ กองบังคับการตำรวจรถไฟ เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กรณีที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีผลให้ยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางภายใน 1 ปี หรือภายในเดือนต.ค. 2566 ตามราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 

ร.ต.ท.สมควร กล่าวว่า ตนกับทีมงานได้ปรึกษาหารือกันแล้ว มีความเห็นว่า น่าจะยื่นร้องขอความเป็นธรรมที่ถูกยุบโดยมีความรู้สึกว่า นอกจากจะเดือดร้อนต่อครอบครัวของข้าราชการชั้นผู้น้อยในสายงานตำรวจรถไฟแล้ว และในภาคประชาชนที่โดยสารบนขบวนรถไฟ ถ้าไม่มีตำรวจ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีการคุ้มครอง และปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถไฟ 200,000 คนต่อวัน ส่วนนี้ใครจะเป็นผู้ดูแล ทำให้ความเดือดร้อนอยู่กับประชาชนทั้งหมด และหากจะใช้ รปภ. ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่แทนตำรวจ รปภ. จะสามารถทำงานได้ตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่อง ยาเสพติด แรงงานต่างชาติ และการจับกุมตามหมายจับ ซึ่ง รปภ.ไม่มีอำนาจในประเด็นเหล่านี้

ร.ต.ท.สมควร ยังกล่าวอีกว่า บก.รฟ. คือหน่วยงานที่สามารถจับกุมตามหมายจับได้มากที่สุด และขอเน้นย้ำเรื่องการยุบตำรวจรถไฟ ที่ไม่เกิดความเป็นธรรม ซึ่งในเจตนารมณ์การออกกฎหมายนั้นให้โอนย้ายหน่วยงานที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่มีการถวายความปลอดภัยตามจุดตัดทางแยกต่างๆ อีกทั้งมีการปฏิบัติตาม ป.วิอาญา ซึ่งจะสามารถดูผลปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อการันตีว่า ตำรวจรถไฟทำงาน 

"ในข้อกฎหมายที่ออกมา เมื่อครบกำหนด 1 ปี มีอันถูกยุบ มันเป็นความเจ็บปวดสำหรับพวกเรา ตำรวจรถไฟก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2437 และตนมาปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2534 เป็น 30 กว่าปี ที่มีเรื่องโดนยุบมาสองครั้ง ครั้งนี้ครั้งที่สาม" 

ด้าน ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอรับเอาข้อเสนอข้อเรียกร้องของตำรวจรถไฟที่เรียกร้องมา ขณะนี้กฎหมายมีผลบังคับใช้ออกมาแล้ว ซึ่งคำว่าตำรวจรถไฟนั้นจะไม่มี เพียงแต่โอนย้ายมาที่ สตช. ทางพรรคจะไปดูในรายละเอียดให้ ว่าจะมีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร และการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง ต้องทำเพื่อพี่น้องประชาชน ต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ถ้าไม่เรียกตำรวจรถไฟต้องมีหน้าที่สอดรับสอดคล้อบขณะที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็ทำให้ดีที่สุด ถึงชื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ในความเปลี่ยนแปลงต้องดูที่ตัวบทกฎหมาย