ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' ยกโทษ ‘อัยย์ เพชรทอง’ ไม่ดำเนินคดีต่อหลังสำนึกผิด กรณีโพสต์หมิ่นประมาท ใส่ร้ายทางเฟซบุ๊ก

27 พ.ค 2566 วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะโจทก์ ได้มอบหมายให้ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความ ฟ้องอัยย์ เพชรทอง เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท คดีหมายเลขดำที่ อ370/2566 ซึ่งเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกฟ้อง โดยจำเลยได้โพสต์ใส่ร้ายในเฟซบุ๊กว่าโจทก์เป็นหัวหน้าโจรและกล่าวหาพรรคประชาชาติว่าเป็นพรรคโจร ซึ่งเป็นการปลุกปั่นสังคมด้วยข้อมูลเท็จ โดยได้โพสต์เผยแพร่ซ้ำๆ แม้จะถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกรวม 8 ปีในคดีหมิ่นประมาทก่อนหน้านี้ไปแล้ว โดยในวันนี้ศาลยะลาได้นัดสืบพยาน ซึ่งวันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อมทนายความและพยานได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดยะลา ขณะที่อัยย์ เพชรทอง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ต้องขังที่เรือนจำสงขลา ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาที่ศาล โดยถูกล่ามโซ่ที่ข้อเท้าและล็อคข้อมือไว้ ท่ามกลางการดูแลของตำรวจ 

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ในฐานะทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า อัยย์ได้โพสต์ข้อความหมิ่นประชาชาติหลังจากหัวหน้าพรรคและ ส.ส.พรรคประชาชาติได้เดินทางกลับมาจากการทำพิธีอุมเราะห์ ที่ซาอุดีอาระเบีย โดยได้โพสต์ข้อความกล่าวร้ายต่างๆนานา ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย เป็นพรรคโจรมุสลิม เป็นกบฏมุสลิม และกล่าวร้ายว่าเป็นพรรคโจรกบฏ โดยได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก 3 บัญชีและเพจอีก 3 บัญชี จึงได้ฟ้องหมิ่นประมาทเป็นคดีที่สอง มีการไต่สวนแล้วพบว่ามีมูล จึงได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ซึ่งศาลได้เป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย ปรากฎว่าอัยย์ได้สำนึกผิด และยอมรับผิดในสิ่งที่ได้กล่าวหา ว่าสิ่งที่โพสต์นั้นไม่เป็นความจริง และได้มีการขอโทษในห้องพิจารณาคดี และทางศาลได้บันทึกในรายงานกระบวนการพิจารณาว่าเขาได้ยอมรับผิด และกล่าวขอโทษต่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพรรคประชาชาติ นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขากล่าวหาทั้งหมดไม่เป็นความจริง

มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ ได้เดินทางไปในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ เปิดเผยว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ไม่เคยคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใดเลย แม้ว่าท่านจะถูกใครกล่าวร้ายก็ตาม แต่กรณีของอัยย์นี้มีพฤติกรรมยุยงปลุกปั่นให้สังคมขัดแย้งแบะแตกแยกทางศาสนา จึงมีความอันตรายต้อสังคมหากปล่อยไว้เช่นนี้ ท่านจึงได้ฟ้องไปแล้วครั้งแรก โดยคาดว่าจะสำนึกและขอโทษ แต่จำเลยไม่สำนึก จึงดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ปรากฏว่าจำเลยก็ยังไม่หยุดพฤติกรรม ยังคงโพสต์หมิ่นประมาทอย่างต่อเนื่อง จึงได้ฟ้องอีกคดี ซึ่งคราวนี้ศาลพยายามไกล่เกลี่ยและเห็นว่าจำเลยสำนึกผิด ท่านวันนอร์จึงบอกว่าเมื่อคนสำนึกผิดแล้วก็ให้อภัย เพราะเห็นว่าจำเลยมีภรรยาและครอบครัวต้องดูแล หากสู้คดีแล้วศาลสั่งจำคุกเพิ่มก็จะไม่เป็นผลดีต่อครอบครัว ท่านวันนอร์จึงเมตตาและประนีประนอมยอมความ โดยท่านนำพระบรมราโชวาทของในหลวง ร.9 ว่า ชนะใจ ยอมให้อภัย คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่