‘เสียงของสิทธิ: เมื่อเราได้เปล่งเสียงผ่านงานศิลป์’ งานเสวนาในบรรยากาศสบายๆ จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำนักข่าวประชาไท ในม็อบมีเด็ก และม็อบดาต้าไทยแลนด์ ชวนคนที่สนใจเรื่องสิทธิมาใช้ ‘สิทธิในการพักผ่อน’ พูดคุยเรื่องสิทธิเสรีภาพเนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษชนสากล
ย้อนกลับไปเมื่อ 73 ปีก่อน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติถูกลงมติรับรองโดยสมาชิกประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย เพื่อเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลกเมื่อ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ตัดฉากกลับมาที่ประเทศไทย คำถามหนึ่งในบทสนทนา คือปิดตาข้างเดียวดีกว่าไหม เพราะชีวิตอาจจะง่ายกว่าถ้าเราไม่แคร์เรื่องสิทธิเสรีภาพ?
ในประเทศไทย คนไม่สนใจเรื่องสิทธิใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป?
“บางทีเราอยากเป็นสลิ่มนะ ชีวิตจะง่ายกว่ามากเลย เพื่อนเราอัพโหลดอินสตาแกรม ‘ตอนนี้อยู่ภูเก็ต อยู่บนยอร์ชแล้ว’ เขาไม่ต้องทะเลาะไง เรากับพ่อแม่เรา ตั้งแต่เราเลือกข้างว่าเราจะสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่ไม่ใช่แค่ของเราเท่านั้น แต่เป็นของ LGBTQ คนในชุมชนของเรา เพื่อนเรา ตั้งแต่เราเลือกแบบนี้ ชีวิตเรายากมาก เราคิดว่าสำหรับคนที่เขาไม่เคยคิดว่าสิทธิคืออะไร ชีวิตเขาดูดีกว่าเรามากๆ เลย อยากลองถามดูว่า หรือสุดท้ายแล้วเราควรเลือกปิดตาข้างหนึ่งเพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือเปล่า หลายคนอาจจะมีคำถามแบบนี้บ้างในบางเวลา เพราะที่ผ่านมาก็ค่อนข้างหนักหน่วงกันทุกคน”
ผู้เข้าร่วมฟังงานเสวนาคนหนึ่งยกมือถามคนบนเวทีที่ประกอบไปด้วย วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย เคน สิปปกร เขียวสันเทียะ หรือ Baphoboy เจ้าของผลงานภาพวาดแนว Pop Art เม่อ หรือ Summer December นักเขียนรุ่นใหม่ เจ้าของนวนิยาย “ค่อย ๆ รัก” และ จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท
“แม้แต่มีชีวิตตามน้ำ เราก็ไม่รู้สึกว่าเขามีความสุขนะ เพียงแต่ในพื้นที่ที่เขามีสิทธิพิเศษ มีความเหนือกว่าบางอย่าง เขาก็อาจจะยังเอนจอยตรงนี้อยู่ แน่นอนเขาไม่ต้องนั่งคิดเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างเรา เราจะขึ้นรถเมล์เราคิดอะ มันขึ้นไม่ไหว”
วีรพรตอบ ย้ำว่าในอนาคตอันใกล้ กลุ่มคนที่ยังคิดว่าประเทศยังดีอยู่ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลง อาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทครอบครัวที่ความคิดความอ่านของลูกที่ต่างไปจากพ่อแม่ เพราะคนรุ่นใหม่โตมากับ “One World” ผ่านโลกเสมือนที่ไม่แบ่งแยกประเทศไทยออกจาก 'ชาติตะวันตก' พวกเขาพูดคุยเรื่องสิทธิเสรีภาพ และรัฐสวัสดิการในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา
เคน Baphoboy ที่เพิ่งออกมาจากการเกณฑ์ทหารได้ไม่นาน แลกเปลี่ยนว่าตนเองเคยมีความคิดว่า หนีสภาพแย่ๆ ข้างนอกกลับไปอยู่ในค่ายทหารดีกว่าไหม
“ตอนที่เคนออกมาจากค่ายทหาร เคนกลัวคำนึงมากเลย แม่บอกว่า ‘เดี๋ยวสักวันหนึ่งจะอยากกลับเข้าไป’ แล้วสิ่งที่เคนกลัวก็เกิดขึ้น หลังจากที่เคนออกมาเดือนนึงเคนก็รู้สึกว่า หรือกูกลับไปเป็นทหารรอเขาสั่งไปวันๆ น่าจะยังมีความสุขกว่าการออกมาเจอกับสภาพโควิด สภาพเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ ผมเป็นแค่พลทหารนะตอนนั้น ผมยังอยากกลับเข้าไปอยู่เลย แล้วถ้าพวกที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าที่วันๆ เอาแต่สั่ง เขาไม่จำเป็นต้องมานั่งแคร์อะไร ในนั้นแม้จะโดนสั่ง โดนพรากสิทธิมนุษยชน แต่แค่มึงทำตามๆ ไป เขาก็รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรกิน สิ้นเดือนก็รู้ว่าจะมีเงินเจ็ดพันส่งให้แม่ เราอยู่ในสังคมจำลองโดยที่ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ... ตอนนี้ถึงจะเป็นสลิ่มแต่ไม่ใช่ชนชั้นกลางก็ไม่ได้อยู่แบบสุขสบายนะครับ หาเช้ากินค่ำก็ไม่สุขสบายนะตอนนี้”
ด้าน ‘เม่อ’ นักเขียนเจ้าของนามปากกา Summer December มองว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งคนที่มีความโชคดีกว่าคนอื่นๆ แต่การต้องจ่ายภาษีโดยที่รัฐบาลไม่ได้นำเงินของประชาชนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งที่เธอยอมไม่ได้เช่นกัน
“เราก็ยอมรับว่ามีอภิสิทธิ์ ไม่งั้นเราคงไม่มานั่งเพ้อเจ้อเขียนนิยายมาได้สามเล่มสองพันกว่าหน้า คงไม่มีเวลาลาออกจากงานมาทำแบบนั้น แต่ถ้าเราจะไม่แคร์สิทธิแคร์เสียงแล้วใช้ชีวิตแบบนี้ อยู่ในประเทศที่เราต้องจ่ายภาษีโดยไม่มีรัฐสวัสดิการ เราก็ไม่ทนนะ ต่อให้เราจ่ายได้เราก็ไม่จ่าย เพราะเราคาดหวังว่าภาษีเราจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นต่อให้เราเองไม่ได้มีชีวิตที่ลำบากหรือแย่ การที่เรามีอภิสิทธิ์แล้วเราแคร์ เราต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เรามองว่ามันเป็นการใช้อภิสิทธิของเราช่วยคนที่ไม่มีโอกาสที่จะออกมาพูดหรือส่งเสียงให้ดังมากพอ นี่คือเหตุผลที่เรายังอยากจะต่อสู้ตรงนี้ต่อไปเพื่อตัวเราเองและเพื่อคนอื่นๆ เราแค่รู้สึกว่า ถ้าเป็นสลิ่มก็คงไม่ได้นอนหลับสบาย เห็นหลายๆ คนที่เป็นเหมือนจะสบาย แต่ก็ไม่ใช่ เราก็แค่รักตัวเองมากพอที่เราจะไม่ยอมเสียเปรียบให้กับคนที่เขาควรจะทำงานให้เรา เราจ่ายภาษีให้เขาทำงาน จึงคิดว่าเราไม่ควรจะอยู่นิ่งเฉยเลย”
จุฑารัตน์จากประชาไท ตอบในฐานะนักข่าวว่า ปิดตาข้างเดียวในประเทศนี้ ก็อาจจะไม่ช่วยให้ชีวิตสบายขึ้น
“ในฐานะนักข่าวถ้าเราไปรู้เรื่องบางอย่างแล้วในฐานะเพื่อนมนุษย์เรารับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนอื่นๆ มันอาจจะนอนไม่หลับมากกว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย การปิดตาข้างเดียวมันอาจจะไม่พอให้เรามีความสุข... จริงๆ แล้วการต่อสู้เพื่อมนุษย์คนอื่น ส่วนตัวมองว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเองเหมือนกัน ถ้าความเป็นธรรมบางอย่างมันเกิดขึ้นกับคนอื่นได้ สักวันมันก็อาจจะมาถึงเราก็ได้ มันเป็นภาวะที่ทนไม่ได้มากกว่าที่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนอื่น โดยเฉพาะเวลาที่มันเกิดขึ้นในวงกว้าง อย่างน้อยต้องทำให้คนเห็นความไม่เป็นธรรมนี้”
ต้องคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพแบบไหน สังคมไทยจึงจะเข้าใจ?
อีกหนึ่งบทสนทนาที่หลายคนร่วมแลกเปลี่ยนคือการช่วยกันคิดว่า เราจะคุยเรื่องสิทธิเสรีภาพที่คนจำนวนหนึ่งในสังคมมองว่า “เป็นเรื่องของชาติตตะวันตก” ให้คนเข้าใจและรู้สึกว่าใกล้ตัวได้อย่างไร โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ที่วิชาประวัติศาสตร์พูดถึงเรื่องการต่อสู้ด้านสิทธิไว้น้อยมาก และในหัวข้อสิทธิพลเมือง ก็ดูจะมุ่งเน้นสอนเด็กๆ เรื่องหน้าที่และค่านิยมตามที่รัฐบาลกำหนด
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย เห็นด้วยว่าเราไม่ค่อยได้คุยเรื่องสิทธิเสรีภาพ หากแต่โตมาด้วยการถูกสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ถูกสอนให้เป็นคนดีในแบบที่เราไม่มีสิทธินิยามเองว่าคืออะไร
“มนุษย์เกิดมาต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเอง ต้องการจะมีความสุข และความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันต้องการการแสวงหาความสุขนั้นในรูปแบบของตัวเอง เสรีภาพมันคือการที่เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะมีความสุขกับตัวเราเองในรูปแบบไหน มันก็ต้องมาไล่ถามว่า แล้วการที่เราจะเป็นมนุษย์ที่มีความสุขในแบบของตัวเอง มันเริ่มต้นที่อะไร มันก็ต้องเริ่มต้นที่สิทธิในการใช้ชีวิต เราต้องได้รับการคุ้มครองว่า วันดีคืนดีเราจะไม่ถูกพรากชีวิตของเราไป วันดีคืนดีเราจะไม่ถูกซ้อมทรมาน ถ้าเกิดว่าเราไปทำอะไรที่มันขัดกับกฎหมาย เราจะได้รับการไต่สวน ได้รับการดูแลในกระบวนการยุติธรรม ได้รับการตัดสินพิพากษาอย่างถูกต้อง ใครจะมาค้นบ้านเราก็ต้องมีหมาย ต้องมีเอกสารชัดเจน และเอกสารนั้นก็ต้องมาจากศาลที่เป็นธรรมและยุติธรรม นี่เป็นพื้นฐานเลยว่าเราจะใช้ชีวิตโดยที่ไม่ถูกรบกวน
แต่ก็คงไม่ใช่แค่นั้น มนุษย์ก็คงมีความรู้สึกว่า เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราอยากจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว นี่เป็นเรื่องสิทธิทางการเมืองที่เราควรมีสิทธิในการที่จะโหวตที่เท่ากันกับคนอื่นๆ หรือเราควรมีสิทธิที่จะลงรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือแสดงความคิดเห็นกับคนอื่นว่าเราอยากจะให้สังคมเป็นยังไง ซึ่งมันก็อาจจะต่างกันก็ได้ แต่ว่าสิทธิเสรีภาพคือการประกันว่า เราจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง พูดคุยแลกเปลี่ยนกันโดยที่เราจะไม่ถูกทำร้ายเพราะเรามีความคิดเห็นแบบนั้น
ขยับมาอีกนิดหนึ่ง ถามตัวเองว่า เราพอไหมแค่นี้ บางทีมันก็อาจจะมีเรื่องอื่นๆ เช่น เราอยากจะมีส่วนร่วมในสังคม แต่ชีวิตเรามันยากลำบากเหลือเกิน เราเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพก็ไม่มี อันนี้เป็นสิทธิทางสังคม เหมือนที่หลายคนพูดว่าเราต้องการสวัสดิการ เราต้องการไปทำงานด้วยขนส่งสาธารณะที่มันไม่ได้กินเวลาชีวิตเรามาก เราจะได้ไปทำงานด้วยความสุขและความคิดสร้างสรรค์ได้ สิทธิเสรีภาพมันจึงเกี่ยวกับทุกมิติในชีวิตของเรา เราจะใช้ชีวิตยังไง เราจะมีส่วนร่วมกับสังคมนี้ยังไง แล้วอะไรที่จะทำให้ชีวิตเรารุ่มรวยขึ้นได้บ้าง มันคงไม่ได้มาแบบเสกมา ไม่ใช่ว่าประกาศไว้ในปฏิญญาสากลแล้วมันจะได้มาเลย มันต้องผ่านการต่อสู้ ผ่านการเรียกร้อง ผ่านการถกเถียงว่าจะเอาแบบไหน เอาแค่ไหน และแน่นอนว่าถ้าอยากจะได้สิทธิมากขึ้นแปลว่าทั้งสังคมก็ต้องร่วมกันทำให้ได้มันมา บางครั้งเราอาจจะต้องเสียสละบางอย่าง เช่นเราอยากได้ขนส่งสาธารณะที่ดีมาก ๆ เราก็ต้องยอมเสียภาษีที่มันมากขึ้น มันต้องผ่านการถกเถียงในสังคม”
หน้าที่แบบไทยๆ ทำให้เราล่วงไปจำกัดสิทธิของคนอื่น?
หนึ่งในผู้ร่วมงานเสวนาแลกเปลี่ยนว่า การส่งเสริมเริ่มสิทธิเสรีภาพในไทยทำได้ยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘หน้าที่’ ที่ถูกกำหนดโดยรัฐ หลายครั้งไม่อนุญาตให้เราทำตามคุณค่าสากล
“ในประเทศนี้เรามักจะพูดถึงสิทธิที่มาคู่กับหน้าที่ สิทธิและหน้าที่มันไม่มีปัญหาในโลกที่หนึ่งเพราะว่าเวลาเราพูดถึงหน้าที่มันคือการปฏิบัติตามข้อกำหนดของสังคมที่ได้รับการยอมรับ แต่เวลาเราพูดสิทธิและหน้าที่ในประเทศนี้ ปัญหาก็คือหน้าที่ของเรามันไปจำกัดสิทธิของคนอื่น มันไม่ใช่หน้าที่ที่พาเราไปสู่คุณค่าสากลที่เขายอมรับกันว่าเป็นสิ่งที่ดี
ผมคิดว่าเรายังต้องพูดถึงอีกสองส่วน คือความรับผิดชอบ และความเคารพ ความรับผิดชอบคือสิ่งที่เราตระหนักว่า เวลาเรามีสิทธิที่จะทำอะไร เราใช้สิทธิของเราอย่างระมัดระวังกับบทบาทที่เรามี มันผูกโยงกับความเคารพที่เราต้องตระหนักว่า แต่ละคนมีคุณค่าที่เขาให้ความสำคัญต่างกัน แต่ถึงเราจะเข้าใจความรับผิดชอบและการเคารพคนอื่นแล้ว เรากลับอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่อนุญาตให้ทั้งสองอย่างนี้มันทำงานได้ สมมติผมเป็นตำรวจ ผมพยายามจะช่วยคนๆ หนึ่งในม็อบด้วยคุณค่าที่ผมมี แต่โครงสร้างใหญ่มันไม่อนุญาตให้ผมทำแบบนั้น”
พระอาทิตย์กำลังตกดิน กลิ่นบาร์บีคิวลอยอยู่ในอากาศเข้ากันกับรสชาติของคราฟต์เบียร์ ใครเดินผ่าน The Jam Factory เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา คงเข้าใจว่าผู้คนเหล่านี้มารวมตัวคุยกันแบบสบายๆ กินดื่มเคล้าเสียงเพลง ก็ใช่ แต่ในรายละเอียดนั้นเข้มข้น หลายคนรู้สึกเจ็บปวด เหนื่อย ท้อ แต่บทสนทนาจบลงตรงที่ ‘เราต้องต่อสู้และยืนหยัดต่อไป’