สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. นำโดย นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ เลขาธิการ สนท. และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ประธานยุทธศาสตร์ สนท. พร้อมด้วยนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนผ่าน นายวรพงษ์ อินต๊ะโมงค์ รองผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีไม่รับคำร้องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนและกรณีอื่นๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกร้องเรียน
นายชลธิศ ระบุว่า สนท. มีความกังวลว่า คำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวจะเข้าข่ายการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานจริยธรรมปี 2561 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและอื่นๆ ในข้อ 11 เนื่องจากมีตุลาการ 5 คน ที่ได้รับการต่ออายุราชการหลังจากหมดวาระแล้วในปี 2560 จากพลเอกประยุทธ์ ภายใต้คำสั่งของหัวหน้า คสช. จึงเข้ายื่นเรื่องต่อปปชในครั้งนี้เพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างสุจริตเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติทางการเมืองต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า การทำหน้าที่ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ใน 9 คน ที่พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตกเป็นผู้ถูกร้องเรียนในเรื่องต่างๆ เป็นผู้แต่งตั้งมานั้น นอกจากไม่สง่างามแล้วยังเกิดข้อกังขาในสังคมมากมาย จึงนำสู่การยื่นให้ ป.ป.ช. เพื่อพิทักษ์มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการและองค์กรอิสระ ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของตุลาการ ว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ และหวังว่า ป.ป.ช จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาด้วยความสุจริต
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า สถาบันศาลหรือองค์กรตุลาการใช้อำนาจอธิปไตย ของประชาชน ซึ่งควรให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่หรือคำวินิจฉัยได้ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ส่วนแนวทางที่จะมีการปฏิรูปศาลหรือยุบรวมศาลรัฐธรรมนูญกับศาลฎีกานั้น นายพริษฐ์ มองว่า ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรหลักการสำคัญคือ สถาบันตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยหนังสือที่ยื่นถึง ป.ป.ช. มีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2562 ได้เผยแพร่ว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้อง เรื่องการพิจารณาที่ ต.37/2562 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคสามและมาตรา 47 (1) โดยอธิบายเหตุผลประกอบคำสั่งไม่รับคำร้อง ดังนี้
1. การถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government)
2. การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวจะเข้าข่ายการกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 เนื่องจากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 ท่าน ที่ได้รับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 ตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดวาระไว้ 9 ปี แต่เมื่อครบวาระในปี 2560 แล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24 /2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 ซึ่งลงนามรับรองคำสั่งดังกล่าวโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งบัดนี้ตกเป็นผู้ถูกร้องในกรณีดังกล่าว
ทางสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย จึงส่งหนังสือร้องเรียนฉบับนี้ เพื่อให้มีการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างสุจริต เป็นธรรม และไม่มีการเลือกปฏิบัติทางการเมืองต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง