หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.25 ต่อปี จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ทันที 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' ได้ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงข่าวดังกล่าวรวมถึงถามหาความเข้าใจเชิงนโยบาย
จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทีมข่าวพบว่าประชาชนที่ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดไม่ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังไม่มีความเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับชีวิตของประชาชน
'เหมือนพิมพ์ รอบคอบ' และ 'อัญชิสา พรมานุสรณ์' 2 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งชี้ว่า แม้พวกตนจะได้เรียนเรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือภาษีมาบ้างในวิชาทั่วไป แต่ก็ไม่เข้าใจอย่างท่องแท้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสร้างผลกระทบในชีวิตของประชาชนได้อย่างไร และมองว่า นักศึกษาที่ไม่ได้เรียนในคณะเฉพาะ อาทิ คณะเศรษฐศาสตร์น่าจะไม่มีความรู้เรื่องนี้เช่นเดียวกัน
ขณะที่ 'สาง บัวใหญ่' พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมถึง 'สุภาพ สีเชียงพิมพ์' วินจักรยานยนต์รับจ้าง ก็ตอบไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่มีความเข้าใจในประเด็นนี้ รวมถึงไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง คล้ายกับเป็น "ดอกเบี้ยขั้นต่ำ" และยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือด้านนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
ในมิติเรื่องความเกี่ยวข้องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีผลกับประชาชน สามารถดูได้จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อ ธปท. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงด้วย กรณีเช่นนี้จะเอื้อให้เกิดประโยชน์์กับผู้ต้องการกู้เงินเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกลง แต่ผู้ที่ต้องการฝากเงินจะเสียเปรียบจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง
ในทางตรงกันข้าม หาก ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นส่งผลกระทบกับผู้ที่ต้องการกู้เงิน แต่จะเป็นผลบวกกับผู้ที่ต้องการฝากเงิน
ดังนั้น ไม่ว่าจะปรับขึ้นหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. จำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวังเนื่องจากเมื่อมีฝ่ายหนึ่งได้ จะไม่อีกฝ่ายหนึ่งเสียเสมอ
หลังทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ได้ลองอธิบายความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับอัตราเงินกู้และอัตราเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ พบว่า ประชาชนสามารถเข้าใจความเกี่ยวข้องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับชีวิตของพวกเขาได้ทันที
'เหมือนพิมพ์ รอบคอบ' อธิบายว่า เมื่อปัจจุบัน ธปท. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงซึ่งจะกระทบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เธอจึงมีแนวคิดในการนำเงินไปหามูลค่าเพิ่มนอกเหนือจากการฝากประจำด้วยการลงทุนในทอง หรือตลาดหุ้นแทน
ขณะที่ฝั่ง 'สุภาพ สีเชียงพิมพ์' ชี้ว่า หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง ก็อยากจะไปกู้เงินมาลงทุนทำธุรกิจเพิ่มเติมจากการขับจักรยานยนต์อย่างเดียว และตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ได้กังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไหร่นักเพราะมีเงินออมน้อยเกินกว่าจะไปฝากธนาคาร เช่นเดียวกับ 'สาง บัวใหญ่' ที่ชี้ว่า รายได้ขั้นพื้นฐานทุกวันนี้แทบจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายอยู่แล้ว
'สาง บัวใหญ่' เพิ่มเติมว่า หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง ก็อยากจะไปกู้เพื่อมาลงทุนในพื้นที่ทางการเกษตรที่ต่างจังหวัดของตน โดยจะนำเงินไปลงทุนด้านการซื้อวัว ควาย หรือการลงทุนปลูกผัก เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับครอบครัว
จากการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์พบว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบและเข้าใจถึงผลกระทบที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีต่อชีวิตของพวกเขา แต่เมื่อได้รับการอธิบายประชาชนสามารถเข้าใจได้ทันที และมองว่าเป็นประเด็นที่สมควรได้รับการศึกษาตั้งแต่ในวัยเด็ก
'เหมือนพิมพ์ รอบคอบ' ชี้ว่า เธออยากให้มีการเรียนการสอนทั้งเรื่องภาษี และอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ ตั้งแต่ในวัยมัธยมเพื่อสร้างความพร้อมให้กับเด็กที่จะต้องเผชิญหน้ากับประเด็นเหล่านี้เมื่อโตขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องนี้แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;