ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ ตั้งทีมวอร์รูมติดตามสถานการณ์สงครามการค้าใกล้ชิด แนะผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ลดผลกระทบค่าเงินผันผวน แม้กระทบส่งออก แต่หลายสินค้าไทยยังได้ประโยชน์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่จีนประกาศปรับแผนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ร้อยละ 5 – 10 รวม 5,078 รายการ มูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งมีแผนขึ้นภาษีรถยนต์ร้อยละ 25 และชิ้นส่วนยานยนต์ร้อยละ 5 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่า การขึ้นภาษีของจีนครั้งนี้ มีเป้าหมายไปที่รายการสินค้าต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง ฝ้าย เนื้อหมูและวัว น้ำมันดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดัคเตอร์) อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องบินเล็ก เป็นต้น โดยสหรัฐฯ ประกาศตอบโต้ทันทีโดยเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจีน 1) สินค้ากลุ่ม 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นร้อยละ 15 (จากเดิมร้อยละ 10) บังคับใช้ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค. 62 และ 2) สินค้ากลุ่ม 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ขึ้นภาษีไปแล้ว เป็นร้อยละ 30) (จากเดิมร้อยละ 25) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 อีกทั้งสั่งการให้บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ถอนการลงทุนออกจากจีนทันที 

นางสาวพิมพ์ชนก ให้ความเห็นว่ามาตรการของจีนค่อนข้างเฉพาะเจาะจงและมุ่งเป้าสินค้าที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลป์ ทรัมป์เป็นหลัก เช่น ในแถบ Midwest และตอนใต้ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ส่งออกถั่วเหลือง อีกทั้งสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ ในตลาดจีน ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ รวมถึงน้ำมันดิบ โดยจีนยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบที่สำคัญของสหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกต่อปีตลอดจนอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยี และเครื่องจักรของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สนค. ได้ตรวจสอบรายละเอียดรายการสินค้าที่จีนขึ้นภาษีสหรัฐฯ พบว่าสินค้าส่วนใหญ่จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้ ในล๊อต 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีสินค้าใหม่ประมาณ 2,000 รายการ และพบว่าสินค้าไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งส่งออกทดแทนในหลายรายการ อาทิ ปลาแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์นมและครีม เครื่องจักรสาน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้การตอบโต้ครั้งล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย แต่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความวิตกกังวลว่า จะเร่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งก่อนหน้านี้IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง และ IMF ได้ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 3.2 (ล่าสุด ก.ค.62) ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในจีนและเยอรมนี ประเด็นเรื่อง Brexit ความตึงเครียดในฮ่องกง หรือการลาออกจากตำแหน่งผู้นำอิตาลี ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ประเด็นค่าเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดที่สาม ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562ค่าเงินหยวนในประเทศซื้อขายในตลาดเอเชียร่วงลงมาอยู่ที่ 7.1487 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 11 ปีนับตั้งแต่ต้นปี 2551

อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแถบยุโรป และญี่ปุ่น และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงประเทศต่างๆ จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปีในระยะที่ค่าเงินมีแนวโน้มผันผวนผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และผู้นำเข้าควรทำสัญญาระยะยาวกับคู่ค้าเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขาย และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากข้อพิพาททางการค้า

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวทิ้งท้าย ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการใดต่อไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้รูปแบบทางการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิด ไทยควรใช้โอกาสที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนให้บริษัทพิจารณาแหล่งผลิตอื่น��� กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากข้อพิพาททางการค้า ในส่วนของการส่งออก แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวบ้างและจำเป็นจะต้องติดตามสถานกาณณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังเห็นโอกาสในหลายจุด เช่น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวถึง ร้อยละ 16.3 (YOY) แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีสินค้าหลายรายการที่แข่งขันได้เราต้องใช้จุดแข็งแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับภาคเอกชนเตรียมมาตรการกระตุ้นการส่งออก การค้าชายแดน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะนำสินค้าไทยแทรกเข้าไปในหลายๆ ตลาด เพื่อกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก ลดการพึ่งพาตลาดเดิม ตลอดจนการลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าอย่างใกล้ชิดและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงทีและเฝ้าระวังการนำเข้าในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯอลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดงและเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ไทยเป็นแหล่งสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าอีกด้วย



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :