วันที่ 7 ก.พ. 2564 อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงหนึ่งของการประชุมร่วมกับคณะกรรมการและคณะตัวแทนภาคประชาชนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ได้แนะนำหนังสือน่าอ่านให้แก่คณะที่เข้าพบ มีชื่อว่า“ความรู้เรื่องเมืองไทย” เขียนโดย ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นการบรรยายให้มีความรู้จักประเทศไทย เข้าใจสังคมไทย และมีความตระหนักในความเป็นไทย ซึ่งผู้เขียนไม่ได้บรรยายถึงอะไรที่เรียกกันว่า “ฮาร์ดแวร์” ประเภททุ่งนาป่าเขา หรือหาดทรายขาวสะอาดที่มองเห็นสุดสายตา หรือวัดวาอารามและสถาปัตยกรรมที่มีความวิจิตรพิศดารหรือแม้กระทั่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สัมผัสได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายเป็นประเภท “ซอฟท์แวร์” คือความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อความศรัทธา จิตสำนึก ตลอดจน “สไตล์” อันเป็นลักษณะพื้นฐานของไทยเรา ซึ่งหมายถึง “วิธี” แบบไทยในการคิด การพูดและการทำ แนะนำโครงสร้าง ระบบและกลไกการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อนุชาระบุว่า หนังสือดังกล่าวหยิบยกเอาประเด็นที่สำคัญและสามารถเข้าใจได้ทันที มาพิจารณาเชิงวิเคราะห์ เช่น เรื่องระบอบการปกครองที่มี“ประชาธิปไตย” เป็นจุดขัดแย้ง เรื่องเศรษฐกิจทุนนิยมที่เข้ามาครอบงำเศรษกิจและสังคมไทย เรื่องทัศนะทางสังคมของคนไทยที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการชี้นำของสื่อโฆษณา
ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวกับจิตสำนึกที่ขาดหายไป เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงเวลาประมาณ 150 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นลักษณะของ “วิวัฒนาการสังคม” ที่คนไทยพึงจะต้องมีความรู้และความเข้าใจว่า กว่าที่จะมาถึงวันนี้ สังคมไทยของเราได้ผ่านอะไรมาบ้าง การที่คนไทยมีความรู้สึกนึกคิดที่ผูกพันกับ “วิวัฒนาการสังคมไทย” จะทำให้มีความเข้าใจทั้งปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอบรรดาสิ่งที่เป็น “จุดแข็ง” ของไทยเรา เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ความสามัคคีปรองดองระหว่างศาสนาที่ต่างกัน ความเป็นมิตรกับชาวต่างประเทศ ความพร้อมในการรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความทันสมัย แม้กระทั่งการให้ความสำคัญต่อผลสำเร็จในเชิงปฏิบัติ และการมีอารมณ์ขันที่คลายความเครียด
อนุชา เผยเพิ่มเติมว่า “นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า หนังสือ - ความรู้เรื่องเมืองไทย ทำให้รู้จักประเทศไทย เข้าใจสังคมไทย และตระหนักในความเป็นไทยได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้รู้จักไทยในมุมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นด้วย”