ไม่พบผลการค้นหา
พปชร.​ ไม่ปิดกั้น ส.ส.ของพรรค ร่วม ส.ว. เข้าชื่อชงศาล รธน.ตีความร่างแก้ไข รธน. ย้ำให้ ส.ว.มั่นใจโหวตรับหลักการ ปัดถ่วงเวลา ชี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล​ พร้อมด้วย​ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองโฆษกวิปรัฐบาล​และพัชรินทร์​ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงผลการประชุม​ ส.ส.​ของพรรค พปชร.​ ว่า การประชุมรัฐสภา​ ในวันที่ 17-18​ พ.ย.​นี้เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ โดยเน้นย้ำขอให้ส.ส. ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 14.00น.​จะมีการหารือ 3 ฝ่ายทั้ง ฝ่ายค้าน รัฐบาล และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อตกลงกรอบกระบวนการให้มีความพร้อมที่จะมีการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ​ทั้ง 7 ฉบับ โดยย้ำว่าทางพรรคไม่ได้จำกัดสิทธิ​ของ​ ส.ส.​ ที่ลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ​ตีความการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร​) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ​หรือไม่​ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ ส.ว.มั่นใจโหวตรับหลักการ ยืนยันไม่ใช่ยืดเวลา ทุกอย่าง จะต้องทำด้วยความรอบคอบ และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาในภายหลัง ซึ่งทางพรรคยังย้ำเจตนารมณ์​ ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 เพื่อสร้างความสามัคคี ปรองดอง ในชาติ ให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่าน จะร่วมมือร่วมใจกัน นำพาชาติไทย ผ่านวิกฤติต่างๆ ไปด้วยกัน

สำหรับประเด็นเรื่องของการร่วมลงชื่อของ ส.ส.พรรคกับ ส.ว.เพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนั้น ชัยวุฒิ ระบุว่า ส.ส.​ ที่ร่วมชื่อดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ล่าช้าออกไปแต่อย่างใดและถือเป็นอีกทางออกหนึ่ง เพราะเป็นเอกสิทธิ์ในการสร้างบริสุทธิ์ใจ และเพื่อให้ ส.ว.ร่วมลงมติผ่านความเห็นชอบ ในการโหวตร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยความเชื่อมั่นต่อกระบวนการในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะ ก่อนหน้านี้ช่วงของการอภิปรายสมาชิกวุฒิสภามีความวิตกว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง ส.ส.ร. และไม่ได้ทำให้กระบวนการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญล่าช้า เสียเวลาออกไปอีก และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการออกมาร้องเรียนของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเพราะความคิดเห็นมีหลากหลาย

ขณะที่ นายวิรัช ย้ำว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกมาในช่วงวาระ 1 อยู่จึงยังสามารถเดินหน้าต่อได้ และยุติได้​ซึ่งการยื่นตีความและกระบวนการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ​สามารถทำควบคู่กันได้​ 

ในสัปดาห์หน้าทางพรรคพลังประชารัฐ กำหนดนัดประชุม ส.ส.ในวันจันทร์ 16 พ.ย. เนื่องจากในวันที่ 17 จะเป็นวันเริ่มของการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ไม่ค่อยสบายใจในข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยืนยันว่าไม่มีความมุ่งหมายในการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาภายหลังได้ผ่านขั้นตอนรับหลักการในวาระที่ 1 ไปก่อน เมื่อวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จึงพิจารณาว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไปตามขั้นตอน