ไม่พบผลการค้นหา
‘วราวุธ‘ เร่งดำเนินการ NRM เยียวยาคนไทยตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ มองหาก ’เล้าก์ก่าย‘ ยกระดับความรุนแรง พร้อมช่วยเหลือ ‘ผู้ลี้ภัย-ผู้หนีภัย‘ ด้านสิทธิมนุษยชน

วันที่ 21 พ.ย. วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism) เพื่อการช่วยเหลือคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ว่า กระทรวง พม. มีส่วนในการจัดทำรายงานเรื่อง NRM ทุกปี ทั้งเรื่องของการดำเนินคดีผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ และศาล การดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และการป้องกัน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ โดยตรงส่วนนี้กระทรวงแรงงานจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย 

วราวุธ กล่าวว่า บทบาทหลักของกระทรวง พม. คือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องรอความขัดเจนจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรงหรือไม่ ตามรายงานที่รับมานั้น ในจำนวนคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือมา 266 ราย ผ่านการคัดกรองไปแล้ว 260 ราย ส่วนอีก 6 คนที่เหลือมีหมายจับ และถูกจับกุมไว้ที่สนามบินเพื่อรอดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัวดิภาพประชาชน (ศรส.) จะเข้าไปทำงานตรวจสอบเรื่องการค้ามนุษย์อีกด้วย 

วราวุธ ยังกล่าวถึง การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อค้ามนุษย์โดยสหวิชาชีพอีกว่า จะมีทั้งนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ โดยเน้นสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะยังไม่พูดถึงความผิดหรือความถูก แต่ พม. ยืนยันจะเข้าไปดำเนินการในกระบวนการเยียวยาที่เกี่ยวข้อง 

“ในส่วนของกระทรวง พม. จะมอบหมายให้สหวิชาชีพเข้าไปพูดคุย และดูแลในเคสของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งการยังชีพ และสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ด้อยโอกาส โดยจะให้สหวิชาชีพคอยประสานงานให้” วราวุธ กล่าวย้ำ 

ส่วนเหยื่อที่มีความกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และอาจถูกดำเนินคดีทุกคนนั้น วราวุธ กล่าวว่า เราต้องดูตามข้อเท็จจริง หากพบว่า ไม่มีการสมยอม หรือโดนบังคับ กระทรวง พม. ก็จะเยียวยาทั้งสวัสดิภาพ และสวัสดิการต่างๆ แต่ทั้งนี้กฎหมายก็คือกฎหมาย หากดำเนินการสอบสวนแล้วมีความสงสัยก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไป 

สำหรับกระแสสังคมที่กล่าวโทษเหยื่อค้ามนุษย์ว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น วราวุธ มองว่า บางครั้งคนที่ถูกดำเนินการบังคับไปก็มีเหตุจำเป็น เข้าใจผู้ที่ถูกหลอกไป ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา คนที่ถูกหลอกไป ทรัพย์สินก็หายไป ดังนั้นไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องโทษใคร แต่ต้องสืบสาวให้ถึงต้นตอ และดำเนินการไปให้ถึงในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในเล้าก์ก่ายยกระดับความรุนแรงมากขึ้น จนอาจทำให้มีเหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นคนต่างด้าวลี้ภัยเข้ามา วราวุธ กล่าวว่า ในเบื้องต้นเราต้องดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน และสวัสดิภาพพื้นฐาน แต่ยอมรับว่า เรื่อง NRM เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งเพิ่งมีโอกาสเข้ามาทำงานตรงนี้ ต้องขอไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน

ส่วนคนต่างด้าวที่ลี้ภัยเข้ามาจะถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง หรือส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 นั้น วราวุธ กล่าวว่า พม. ไม่มีสิทธิตัดสินใจคนเดียว ต้องหารือกับทางกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยความมั่นคง และประเทศปลายทางต่างๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไร