ไม่พบผลการค้นหา
การยื่นเรื่องขอหย่าร้างของ 'ซงจุงกิ-ซงเฮคโย' สามีภรรยานักแสดงคนดังแห่งเกาหลีใต้ เป็นข่าวใหญ่ในกลุ่มแฟนคลับทั่วโลก แต่เรื่องนี้อาจจะเป็นเพียง 'ยอดของภูเขาน้ำแข็ง' ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถาบันครอบครัวในเกาหลีใต้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และเหตุผลประกอบการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นทุกปี เกิดจากประเด็นที่คนเกาหลีใต้ยุคก่อนหน้ามองว่าเป็น 'เรื่องเล็กน้อย' เท่านั้น

'ซงจุงกิ' นักแสดงชายชื่อดังชาวเกาหลีใต้ ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาการหย่าขาดจาก 'ซงเฮคโย' นักแสดงหญิงชื่อดังไม่แพ้กัน และบริษัทต้นสังกัดของทั้งคู่ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง ซึ่งฝ่ายชายไม่ได้ชี้แจงเหตุผล แต่ฝ่ายหญิงระบุถึง 'ความแตกต่างด้านอุปนิสัย' ที่แม้จะพยายามปรับเข้าหากันแล้ว ก็ไม่สามารถประสานความแตกต่างนั้นได้

เนื่องจากกฎหมายครอบครัวของเกาหลีใต้กำหนดว่าสามีภรรยาที่ต้องการหย่าขาดจากกันต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้พิจารณาว่าจะตัดสินให้คู่กรณีสิ้นสุดสถานะคู่สมรสหรือไม่ โดยขั้นตอนปกติสำหรับคู่ที่ไม่มีบุตรด้วยกัน ศาลมักจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 30 วัน แต่คู่ที่มีบุตรอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการชี้แจงข้อตกลงระหว่างสามีภรรยาว่าจะดำเนินการหลังหย่าร้างอย่างไร ซึ่งต้องหาข้อยุติในเรื่องต่างๆ ให้ได้ เช่น การจัดสรรหรือแบ่งทรัพย์สินที่ถือครองร่วมกัน การดูแลสภาพจิตใจของอดีตคู่สมรสภายหลังการหย่าร้าง สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร และการจ่ายค่าชดเชยเรื่องบุตร

ข้ันตอนการหย่าของเกาหลีใต้ต้องดำเนินการผ่านศาลครอบครัว เพื่อให้สามีหรือภรรยาได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนได้รับสิทธิต่างๆ ที่ตนควรจะได้หลังสิ้นสุดชีวิตสมรส ไม่ว่าจะเป็นการหย่าโดยความยินยอมหรือการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรณีของ 'ซงจุงกิ' และ 'ซงเฮคโย' เจ้าของฉายา 'คู่รักซงซง' หรือ SongSong Couple ในอดีต คาดว่าจะเป็นการหย่าโดยความยินยอม เพราะตัวแทนซงเฮคโยระบุเหตุผลประกอบการหย่าเรื่อง 'อุปนิสัยที่แตกต่างกัน' เอาไว้แล้ว

ทั้งนี้ คู่รัก 'ซงซง' แต่งงานกันหลังจากร่วมงานในซีรีส์ดัง Descendants of the Sun ที่ออกฉายเมื่อปี 2016 และโด่งดังไปทั่วโลก โดยทั้งคู่จัดพิธีสมรสในเดือน ต.ค.2017 และได้รับปฏิกิริยาทั้งบวกและลบจากแฟนคลับ เพราะผู้ชื่นชมยินดีจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบบทบาทของทั้งคู่ในซีรีส์ดัง แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานจำนวนมากเป็นแฟนคลับของซงจุงกิ ซึ่งไม่พอใจที่ซงเฮคโยเป็นนักแสดงที่อายุมากกว่า และเกรงว่าการแต่งงานจะทำให้อนาคตนักแสดงของซงจุงกิตกต่ำลง 

อย่างไรก็ตาม หากวัดจากผลงานหลังแต่งงาน พบว่าทั้งคู่ยังไม่หายไปจากแวดวงบันเทิงแต่อย่างใด ซงเฮคโยเพิ่งมีซีรีส์เรื่องใหม่ Encounter ออกฉายในเกาหลีใต้และเอเชียต้นปี 2562 รวมถึงการเป็นพรีเซนเตอร์เครื่องประดับแบรนด์ Chaumet ส่วนซงจุงกิมีซีรีส์เรื่อง The Arthdal Chronicles กำลังฉายทางช่อง NetFlix ได้รับความนิยมค่อนข้างน่าพอใจ แต่ข่าวคราวการหย่าร้างจะส่งผลกระทบต่อผลงานของทั้งคู่หรือไม่ยังต้องติดตามดูกันต่อไป


บทบาทที่เปลี่ยนแปลง-ชีวิตคู่ก็เปลี่ยนไป

เว็บไซต์ 10mag สื่อออนไลน์ภาษาอังกฤษที่เจาะกลุ่มชาวต่างชาติในเกาหลีใต้ รายงานว่าเหตุผลในการยื่นเรื่องหย่าขาดในเกาหลีใต้ ถูกอ้างอิงในมาตรา 840 ของกฎหมายว่าด้วยการสมรส ระบุว่า คู่สามีภรรยาจะยื่นเรื่องหย่าขาดได้ด้วยเหตุผล 6 ข้อ ได้แก่ 1. มีการนอกใจกันเกิดขึ้น 2. คู่สมรสถูกทอดทิ้ง 3. คู่สมรสถูกปฏิบัติอย่างทารุณ 4. คู่สมรสกระทำผิดหรือกระทำทารุณต่อบุพการีของอีกฝ่าย 5. คู่สมรสสูญหายหรือไม่อาจติดตามตัวได้นานกว่า 3 ปี และ 6. คู่สมรสประสบเหตุอื่นๆ ที่รุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตสมรสร่วมกันต่อไปได้

ส่วนเหตุผลในแถลงการณ์ของต้นสังกัดซงเฮคโยอาจจัดอยู่ในข้อ 6 ซึ่งก็คือ เหตุผล 'อื่นๆ' ซึ่งไม่เข้าพวกจาก 5 ข้อก่อนหน้านั้น ซึ่งเว็บไซต์ Korea Herald สื่อเกาหลีใต้ เคยรายงานเอาไว้ว่า สามีภรรยาในเกาหลีใต้หย่าร้างกันด้วยเหตุผล 'อื่นๆ' เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงราว 30 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงสถิติหย่าร้างที่รวบรวมโดยมูลนิธิที่ปรึกษาด้านกฎหมาย KLACFR พบว่าร้อยละ 50 ของสามีภรรยาที่ยื่นเรื่องขอหย่าในปี 2010 ระบุเหตุผล 'อื่นๆ' ในการหย่าร้าง ซึ่งคนเกาหลีอายุ 50-60 ปีขึ้นไปอาจมองว่าเป็น 'เรื่องไร้สาระ' 

อุปนิสัย ทัศนคติ แนวทางการใช้ชีวิต รวมไปถึงความต้องการที่แตกต่างกันในชีวิตสมรส เป็นประเด็นที่สามีภรรยายุคหลังสหัสวรรษในเกาหลีใต้ใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจหย่าร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสื่อเกาหลีใต้บางสำนักมองว่าความเปลี่ยนแปลงเรื่อง 'เหตุผล' ในการหย่าร้างของสามีภรรยาเกาหลี แท้จริงเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่่ส่งผลต่อบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในสถาบันครอบครัว

จากเดิมที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องพึ่งพิงผู้ชายและยอมรับบทบาท 'แม่บ้าน' ก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อผู้หญิงได้รับโอกาสทางการศึกษาและอาชีพการงาน ทำให้ความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพิงและต้องยอมอดทนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสามีกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลของ KLACFR ระบุว่า บรรยากาศของสังคมมีผลต่อการหย่าร้างของสามีภรรยาในเกาหลีใต้ โดยเริ่มมีการเก็บสถิติคู่สามีภรรยาที่ยื่นเรื่องขอหย่าในชั้นศาลตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950-1960 และ 1970 โดยช่วงดังกล่าวคาบเกี่ยวกับยุคสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียอย่างมาก ซึ่งข้อมูลในยุคนั้นระบุว่า ร้อยละ 11 และร้อยละ 6.2 ของผู้ดำเนินเรื่องหย่า เกิดจาก 'คู่สมรสหายตัวไป' โดยเกิดขึ้นกับทั้งสามีที่ถูกส่งตัวไปปฏิบัติหน้าที่ในสงครามและกลับมาไม่เจอภรรยา ขณะที่ภรรยาก็ไม่สามารถติดต่อสามีได้เป็นเวลานาน

จับมือ-เงา.jpg

จนกระทั่งทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้บทบาทของผู้หญิงเกาหลีใต้ในการหารายได้หรือประกอบธุรกิจมีความเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกกำหนดให้เป็น 'แม่บ้าน' และไม่สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้ร้อยละ 35.2 ของผู้ชายที่ต้องการหย่าขาดในช่วงนี้ให้เหตุผลว่า ภรรยาไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง เช่น ภรรยาที่ทำงานนอกบ้าน จนไม่มีเวลาทำงานบ้าน

ขณะที่ร้อยละ 31.3 ของผู้หญิงที่ต้องการหย่าขาดจากสามี ระบุเหตุผลว่าตนถูกปฏิบัติอย่างทารุณ โดยมักเกี่ยวพันกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แตกต่างจากยุคก่อนหน้าที่ภรรยาส่วนใหญ่ยอมอดทนรักษาสถานะครอบครัวเอาไว้แม้ว่าจะเผชิญกับสามีใช้ความรุนแรงหรือสามีนอกใจ แต่เมื่อผู้หญิงเริ่มพึ่งพาตัวเองได้ก็ทำให้ตัดสินใจขอหย่าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สถิติผู้หญิงขอหย่าเพราะสามีใช้ความรุนแรงในเกาหลีใต้ในยุค 1980 มีอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 31.5 และร้อยละ 33.5 ในยุค 1990 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 21.8 ในยุค 1970 


ความรุนแรงในครอบครัว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหย่าร้าง

การหย่าร้างด้วยเหตุผลเรื่องการใช้ความรุนแรง หรือ 'การปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม' ต่อคู่สมรสที่เพิ่มสูงสุดในยุค 1990 ทำให้เกาหลีใต้ปรับเปลี่ยนกฎหมายครอบครัวว่าด้วยการหย่าร้าง โดยมีการเพิ่มเงื่อนไขให้คู่สมรสต้องชี้แจงขั้นตอนดำเนินการหลังหย่าขาดให้ชัดเจน เพื่อวางกรอบการคุ้มครองและชดเชยแก่คู่สมรส ซึ่งส่วนใหญ่จะคำนึงถึงประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานกรณีภรรยาขอหย่าจากสามีที่เป็นพนักงานบริษัท แต่ศาลพิพากษาให้แบ่งสินทรัพย์กันคนละครึ่ง แม้สามีจะเป็นคนหารายได้เข้าบ้าน และภรรยาเป็นแม่บ้านดูแลลูกมาตลอดชีวิตสมรส แต่ศาลถือว่าการทำงานบ้านถือเป็นงานอย่างหนึ่งซึ่งควรได้รับการตอบแทนเช่นกัน

นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่านับตั้งแต่ยุค 2000 เป็นต้นมา สามีภรรยาที่อยู่กินกันมานานจนถึงช่วงวัยบั้นปลายชีวิตกลับตัดสินใจหย่าร้างเพิ่มขึ้น โดยสถิติสูงสุดที่สำรวจได้เมื่อปี 2015 บ่งชี้ว่าร้อยละ 31 ของผู้ที่หย่าร้างในปีดังกล่าวเป็นสามีภรรยาที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมเกาหลีใต้เริ่มหันมาใส่ใจเพิ่มขึ้น

สัดส่วนของภรรยาสูงอายุในเกาหลีใต้ที่ยื่นเรื่องขอหย่ามีมากกว่าสัดส่วนของสามีที่ขอหย่าในช่วงบั้นปลาย ซึ่งรอยเตอร์ประเมินว่า ภรรยาส่วนหนึ่งหันไปพึ่งบุตรหลานแทน จึงไม่จำเป็นต้องอดทนกับสามีเหมือนในอดีต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: