เป็นธรรมดาที่คนทำธุรกิจ คนเป็นผู้ประกอบการจะทำกิจการอะไรสักอย่าง ย่อมต้องคิดถึง 'ผลกำไร-รายได้' แต่ภายใต้ตัวเลขรายได้ กำไร ยังมีพนักงาน คนงาน ลูกค้า คู่ค้า และองค์ประกอบสำหรับสร้างการเติบโตให้ธุรกิจให้มีรายได้ดี กำไรงาม
ส่วนในจังหวัดหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่วัดด้วยดัชนีความเชี่ยวชาญจากที่ตั้ง หรือ LQ ( Location Quotient Index) พบว่า ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมชัดเจนที่สุด พอๆ กับนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีการจ้างงานตั้งแต่ระดับพันคนไปถึงหลักสิบในหลากหลายอุตสาหกรรม
ในจำนวนหลายพันโรงงานในขอนแก่น มีตัวอย่างโรงงานขนาดเล็กใจใหญ่แห่งหนึ่ง คือ บริษัท โรงงานพัฒนาการเกษตรขอนแก่น จำกัด ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมพัฒนากระบวนการผลิตผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นำเทคโนโลยีแขนกลและระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ควบคู่ไปกับความตั้งใจให้เกิด 'งานที่ดี' และ 'คนงานไม่เหนื่อยล้า'
'สมิหลา หยกอุบล' กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานพัฒนาการเกษตรขอนแก่น จำกัด เล่าว่า โรงงานของเธอมีคนงานไม่มาก เป็นโรงงานผลิตเครื่องนวดข้าว นวดธัญพืชหลากหลายชนิด ทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด ข้าวฟาง เมล็ดปอเทือง เป็นต้น เธอตั้งโรงงานแห่งนี้ที่ขอนแก่นมาตั้งแต่ปี 2529 ผ่านมาหลายร้อนหลายฝนหลายหนาวในอุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร
เธอพูดชัดว่า ถ้าราคาสินค้าเกษตรไม่ดี ผลกระทบกับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคก็ลามทั่วถึงกัน รวมถึงเป้าหมายยอดขายบริษัทของเธอด้วย หลายปีที่ผ่านมายอดขายไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจ ที่มีสาเหตุจากราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี และเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการและเกษตรกรในอุตสาหกรรมนี้
อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะยังไม่มีตัวเลขสวยงามอย่างใจ แต่ในแง่การพัฒนากระบวนการผลิต การเริ่มอะไรใหม่ๆ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในโรงงาน สร้างผลิตภัณฑ์สวยงามมีคุณภาพ ทำงานรวดเร็วขึ้น เธอจึงพร้อมลงทุนเรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และแขนกล
"มันเป็นเรื่องสำคัญในการลงทุน การลงทุนทุกอย่างต้องใช้สตางค์ แต่ขณะที่ใช้สตางค์ ทำอย่างไรให้คุ้มทุนเร็วที่สุด และสิ่งที่เราลงทุนไปต้องคุ้มค่าและทำงานให้ง่ายขึ้น สวยขึ้น เร็วขึ้น รวดเร็ว ปลอดภัย ลดความเหนื่อยล้าให้กับพนักงาน นั่นคือเราจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ" สมิหลา กล่าว
หลายปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาค 5 โรงงานของเธอได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พัฒนาระบบการทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และแขนกล เพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระคนทำงาน รวมถึงรับนักศึกษาจากสถาบันเข้ามาฝึกงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานร่วมกัน
"เครื่องของเรา แต่เดิมที่ทำงานกันมา ก็ทำแฮนเมด ใช้มือธรรมดาเนี่ยแหละ การตัดเหล็กหรือการเลื่อยไม่สวยงามเลย เราก็ค่อยๆ ประยุกต์มาเรื่อย จนปัจจุบันเราเลื่อยเหล็ก เจาะเหล็กด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตัดแผ่นเหล็กด้วยเครื่องตัดพลาสมา ใช้แขนกลเชื่อมเหล็กทำให้เกิดความแม่นยำ ทำให้เราผลิตสินค้าได้สวยงาม เรียบร้อย รวดเร็วขึ้นมาก และลดความเมื่อยล้าของคนงาน ตัวนี้สำคัญที่สุด เราอยากให้คนงานของเราไม่เหนื่อยในการทำงาน" สมิหลา เล่า
แล้วเครื่องนวดข้าว นวดธัญพืชของโรงงานพัฒนาการเกษตรขอนแก่น ก็ไม่ได้จำหน่ายแต่ในประเทศ ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทอยู่ไกลถึงกานา ศรีลังกา รวมถึงประเทศใกล้ๆ เช่น สปป.ลาว
"ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยอดขายในประเทศมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดขายต่างประเทศผ่านดีลเลอร์เป็นผู้นำออกไปขายให้ มีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และเราก็มีบริการหลังการขาย ลูกค้าอยู่ไกลแค่ไหน เราก็ส่งคนของเราไปดูแลเครื่องจักรให้ได้"
ด้วยหลักใหญ่ใจความคือ การผลิตสินค้าสวยงาม มีคุณภาพในราคาเหมาะสม คนทำงานไม่เหนื่อยล้าเกินไป มีความสุขกับการทำงาน แม้จะตั้งโรงงานในต่างจังหวัด และประสบปัญหาอุปสรรคจากภาวะเศรษฐกิจราคาพืชผลเกษตรตกต่ำมาหลายปี เธอก็บอกว่า ก็ยังสู้ และไม่หยุดยั้งจะพัฒนา
เพราะโรงงานของเธอชื่อ "โรงงานพัฒนาการเกษตรขอนแก่น" สมิหลายืนยันหนักแน่น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :