วันที่ 16 มิ.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพาดพิงถึงรัฐมนตรีท่านอื่นๆ อีกกว่า 20 ราย ที่ไม่ปรากฏชื่อในญัตติว่า อย่าเพิ่งกระดี๊กระด๊าดีใจ พร้อมขอให้อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เนื่องจากการอภิปรายครั้งนี้จะสังเกตได้ว่า ล็อกเป้าตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงรองนายกฯ หลายท่าน ซึ่งเป็นคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลในหลายด้าน โดยในรายชื่อรัฐมนตรีทั้งหมดที่เตรียมไว้ยังมีอีกกว่า 15 คน
จิรายุ ยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะอภิปรายฯ ระบุถึงนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีที่ไม่มีรายชื่อ ซึ่งเป็นผู้กุมความรับผิดชอบในนโยบายต่างๆ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และอีกหลายกระทรวง จึงขอให้เตรียมตัวให้ดี
ส่วนกรณีที่การอภิปรายครั้งนี้จะมีเรื่องส่วนตัวของนายกฯ และรัฐมนตรีหรือไม่ จะมี ส.ส.หญิง มาร้องห่มร้องไห้จริงดังที่ปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ จิรายุ ย้ำว่า หากการประพฤติตนยังไม่เหมาะสม ขัดร่อจริยธรรมจรรยาบรรณของรัฐมนตรี ฉะนั้น การที่มีคนมาขอให้อภิปรายฯ แบบเบาๆ นั่นคงไม่ได้ การเป็นรัฐมนตรีต้องมีจริยธรรมจรรยาบรรณ หากท่านทำเรื่องผิดศีลธรรมอันดีงาม ก็ต้องฝากเตือนท่าน แต่ถ้าท่านมีโอกาสได้ชี้แจงก่อนการอภิปรายฯ ก็เป็นสิทธิของท่าน
"อย่างที่บอกว่ารัฐมนตรีที่ไม่มีชื่อ อย่าเพิ่งตีปีกจนแขนหัก นายกฯ จะปล่อยให้รัฐมนตรีอีก 10 ท่าน มาเป็นหนังหน้าไฟไม่ได้ ขอให้กลับไปคุยกับรัฐมนตรีแต่ละท่านด้วย ทั้งหมดต้องมานั่งเป็นองค์คณะในการอภิปรายฯ ไม่อาจหลีกเลี่ยงภารกิจได้"
สำหรับกรณีของ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั้น จิรายุ มองว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย ก็คงโดนด่าเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ตนจึงขี้เกียจถามสปิริตของรัฐมนตรีช่วยท่านนี้ และสปิริตของนายกฯ ว่าจะปรับ ครม. หรือไม่ ถ้าประชาชนคิดว่าเขายังคงอยู่ต่อไม่เป็นไร เป็นเรื่องเล็ก ก็ตามดุลยพินิจของประชาชน แต่ถ้าท่านเห็นว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยทำลักษณะเช่นนี้ เชื่อว่าไม่รอดแน่นอน
ส่วนเหตุที่ กนกวรรณ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายฯ นั้น เพราะเป็นเรื่องที่มาทีหลัง และ ป.ป.ช เพิ่งมาชี้มูลความผิดทีหลัง จึงไม่ได้มาอยู่ในบัญชี
ขณะที่การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่มีความล่าช้านั้น ตนขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาให้ได้แก้ไข ปรับปรุง อย่าให้มีการยืดระยะเวลาการพิจารณา เพราะที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลายคนมีเชื่อว่า มีความพยายามที่จะดึงเชิง ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่มี 172 มาตรา ให้ได้นานที่สุด เพื่อจะไม่ให้ทันการนำ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ทั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา
"ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงถือเป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเผด็จการรัฐสภา พวกมากลากไป อย่างที่เคยด่าว่าคนอื่นไว้ วันนี้ผมเชื่อว่าไม่น่าจะผ่านเกิน 10 มาตรา เนื่องจากเป็นมาตราเกี่ยวกับคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการตำรวจ และคณะกรรมการคุณธรรม ซึ่งแต่ละมาตราที่แก้ไขก็ยังแก้แบบถอยหลังลงคลอง"
ดังนั้น จึงไม่อยากให้ยืดการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจออกไปอีกอย่างน้อยอีก 2 เดือน พร้อมเรียกร้องว่าถ้าเป็นไปได้ ให้พักการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจไว้ก่อน แล้วเอาเรื่องร่าง พ.ร.ป.ที่มีการแก้ไขไม่กี่มาตราเข้ามาพิจารณาก่อน ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน จะได้ดำเนินการในการประกาศใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป