ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เผย พ.ร.บ.ไซเบอร์ - พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการรับหลักการของ สนช. แล้ว

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 173 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมทั้งได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 172 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง และได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... เป็นผู้พิจารณาร่างไซเบอร์อีกด้วย คือ 1 คณะ พิจารณาทั้ง 2 ร่าง พ.ร.บ. ต่อไป โดยกำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 45 วัน 

ทั้งนี้ กำหนดนัดประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ธ.ค.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ล่าสุด มีนางเสาวนีย์ สุวรรณชีพ เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ

ข้อมูล ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... มีหลักการที่กำหนดให้การเก็บรวมรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อนจึงจะกระทำได้ เว้นแต่มีข้อยกเว้นตามที่ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว สามารถทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งก่อให้เกิด ความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย

แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในบางเรื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับ การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป สมควรกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปขึ้น และจะเป็นกฎหมายที่ ออกมาคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ประชาชนทุกคนโดยกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญกำหนดให้แยกบุคคล 3 ระดับ ได้แก่เจ้าของข้อมูล ผู้จัดเก็บข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปประมวลผล โดยหน่วยงานเป็นผู้จัดเก็บข้อมูล

และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... เนื่องจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 

ดังนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงทีสมควร กําหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสําคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศที่ จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดําเนินการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อ ความมั่นคงอย่างร้ายแรง ตลอดจนกําหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง อันจะทําให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคาม ทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายดังกล่าวจะสามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงทีเพราะปัจจุบันเกิดปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ในหลายประเทศ และหลายกรณีก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ฐานข้อมูลโรงพยาบาล ธนาคาร มีการปล่อยมัลแวร์ที่เหมือนไวรัสเข้ามาทำลายระบบการสื่อสารในระบบคอมพิวเตอร์

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. สำคัญอีก 4 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการลงมติในวาระที่ 1 รับในหลักการเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งทุกฉบับ ได้มีการตั้งคณะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ด้วยแล้วทุกฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (2) ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. (3) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มหมวด การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (ชื่อเดิม (ร่าง) พ.ร.บ. การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. .... ) 

และ (4) ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... กําหนดให้จัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มีฐานะ เป็นนิติบุคคลตามร่างพระราชบัญญัตินี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลในการเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนา อุตสาหกรรมดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ ส่งเสริมให้มีการรับรองคุณภาพ และมาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมตลอดจนเสนอแนะ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและอยู่ในระดับสากล กําหนดหน้าที่ และอํานาจตามวัตถุประสงค์ กําหนดข้อห้ามกระทําการของสภาในกรณีต่าง ๆ ที่มาของรายได้ รายละเอียดเกี่ยวกับสมาชิกและผู้บริหารของสภาในรูปของคณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการดังกล่าว

ในการผลักดันร่างกฎหมายทุกฉบับในครั้งนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมสูงที่จะไปสู่เศรษฐกิจกิจดิจิทัลในมาตรฐานที่เป็นสากล ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยไซเบอร์ซึ่งเป็นปัญหาสากลที่ทั่วโลกเผชิญหน้าอยู่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นจำนวนมาก ทั้งภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และวงเสวนาสาธารณะซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมพูดคุย หลายฝ่ายระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมอบอำนาจให้แก่เจ้าหนักงานที่เกี่ยวข้องในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมากเกินไป จนอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

ภาพจาก Blake Connally on Unsplash