ไม่พบผลการค้นหา
1 ก.พ. 2564 เวลาเช้ามืด กระแสข่าวว่ากองทัพเมียนมาเข้าทำการรัฐประหารเริ่มถูกส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย ทุกอย่างชัดเจนขึ้นอีกครั้งว่า กองทัพเมียนมาเคลื่อนกำลังยึดสถานที่ราชการ และล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งในรอบหลายสิบปี เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา กองทัพเมียนมายังคงไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำในประเทศได้ ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐ วิน มยินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา ตลอดจนผู้นำอาวุโสของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มาจากการเลือกตั้งถูกกองทัพเมียนมาควบคุมตัวในเช้าวันนั้น ก่อนที่ มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำกองทัพจะปรากฏตัวขึ้นในโทรทัศน์ของเมียนมา และประกาศว่ากองทัพได้ทำการยึดอำนาจเอาไว้แล้ว

272793922_1357431988023561_4269049273406665499_n.jpg

เมื่อ 1 ปีก่อน มินอ่องหล่ายน์ ประกาศว่ากองทัพเมียนมาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี เนื่องจาก "การทุจริตเลือกตั้ง" ซึ่งเป็นข้อหาหลักที่กองทัพเมียนมากล่าวหาพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หลังรัฐบาลพลเรือนชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ตลอดเวลานับปีที่ผ่านมา ยังไม่มีท่าทีว่ากองทัพเมียนมาจะคลายอำนาจที่ยึดมาออกจากมือตน ในขณะที่ประชาชนจำนวนนับพันรายเสียชีวิตจากการออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาได้ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินอีกหลายปีแล้ว


กองทัพเมียนมาปราบประชาชนอย่างหนัก

เพียงชั่วเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากการยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. 2564 การลุกขึ้นต่อต้านของภาคประชาชนได้ปะทุขึ้นทั่วทั้งประเทศ ถึงแม้ว่ากองทัพเมียนมาจะมีความพยายามในการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ หมุดหมายการลุกขึ้นประท้วงแรกๆ เกิดขึ้นหลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ต่างนัดกันหยุดทำงานเพื่อประท้วงการยึดอำนาจดังกล่าว ในขณะที่ประชาชนได้ออกมาเคาะหม้อตีกระทะเพื่อขับไล่กองทัพเมียนมา

000_9246FE.jpg

หลังจากการจับตัว อองซาน ซูจี ได้เพียงแค่สองวัน 3 ก.พ. 2564 ตำรวจได้บุกค้นบ้านพักของ อองซาน ซูจี ก่อนการตรวจพบวิทยุสื่อสารผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาต อองซาน ซูจี ถูกตั้งข้อหาจากการกระทำผิดดังกล่าว พร้อมกับข้อหาอื่นๆ เช่น การทุจริตการเลือกตั้ง การคอร์รัปชัน ตลอดจนการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิด-19 ข้อหาทั้งหมดกำลังทำให้ อองซาน ซูจี เผชิญหน้ากับโทษที่อาจทำให้เธอถูกจองจำนาน 160 ปี

การลุกขึ้นประท้วงของประชาชนชาวเมียนมายังคงเดินหน้าต่อไป จนกระทั่งวันที่ 9 ก.พ. 2564 ตำรวจเมียนมาได้ใช้อาวุธยิงผู้ชุมนุมในเนปิดอว์ หญิงผู้ชุมนุมที่ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวในอีก 10 วันต่อมา แต่การตายของเธอไม่ได้ช่วยให้ผู้ประท้วงหวาดกลัวและยุติการชุมนุมแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การประท้วงกลับปะทุมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งประเทศ

6.webp

ประชาคมโลกเริ่มกดดันกองทัพเมียนมา ตลอดจนความพยายามในการหาทางออกสู่สันติภาพ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตรและตัดการเข้าถึงทรัพย์สินของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาหลายราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนต่อสายตรงถึงตัวแทนของกองทัพเมียนมา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว อองซาน ซูจี และยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มีการตอบรับจากกองทัพเมียนมา

ความพยายามของโลกไม่ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 ซึ่งตรงกับวันกองทัพเมียนมาที่มีการเดินขบวนของกำลังพลเพื่อแสดงแสนยานุภาพ กองทัพเมียนมาได้กระทำการอุกอาจฆ่าสังหารประชาชนกว่า 160 คน เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “วันนองเลือด” กองทัพเมียนมาปิดตายประตูสู่หนทางของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

หลังจากวันนองเลือดเพียงแค่หนึ่งวัน 28 มี.ค. 2564 กองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศใส่กองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงกว่า 3,000 ราย ต้องลี้ภัยเข้าฝั่งประเทศไทย ในขณะที่ทางการไทยเองมีความพยายามในการผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงย้อนกลับไปยังเมียนมาอีกครั้ง ในวันเดียวกันนั้น กองทัพเมียนมายิงประชาชนในบริเวณเขตพะโค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 114 ราย

000_92J9YW.jpg

การประท้วงของประชาชนยังคงเดินหน้าต่อไป แต่หลังจากความสูญเสียที่พุ่งสูงขึ้นในทุกวัน กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการประท้วงไปเป็น ‘การประท้วงเงียบ’ หรือการประท้วงด้วยการปิดตัวเงียบอยู่ในบ้าน และไม่เดินทางออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือติดต่อราชการใดๆ เพื่อเป็นการตัดวงจรทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นฐานหล่อเลี้ยงกองทัพเมียนมา


ความสูญเสียต่อประชาชนและชนกลุ่มน้อย

นอกจากการประท้วงเงียบแล้วนั้น ประชาชนชาวเมียนมายังได้นำการประท้วงแบบแฟลชม็อบขึ้นมาใช้ เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถสลายตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ลดการสูญเสียได้ ทั้งนี้ การชุมนุมแฟลชม็อบในปัจจุบันของเมียนมา มีผู้เข้าร่วมเป็นทั้งประชาชนทั่วไป พระภิกษุสงฆ์ กลุ่ม LGBTQ+ เยาวชน ฯลฯ ที่ต่างร่วมกันออกมาขับไล่กองทัพเมียนมา การต่อสู้ยังเกิดขึ้นในรูปแบบอื่นๆ อีก อาทิ การคว่ำบาตรสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ หรือกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากกองทัพ

271886830_299081795585523_96774078265766872_n.jpg

อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมายังคงโจมตีและสังหารประชาชนในประเทศ ที่ลุกขึ้นประท้วงขับไล่คณะรัฐประหารอย่างหนัก โดยจากรายงานของ Media Monitor Collective ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 2,164 คนที่ถูกสังหาร บ้านเรือนอย่างน้อย 2,265 ได้รับผลกระทบ ซึ่งหมายรวมถึงการถูกเผาทำลาย มีพื้นที่ทั้งหมด 33 เขตในเมียนมาได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา

เมื่อแจกแจงลงไปในรายละเอียดแล้ว มีประชาชนถูกยิงจนเสียชีวิตอย่างน้อย 1,175 คน ถูกสังหารหมู่และเผาทั้งหมด 607 คน นอกจากนี้ มีประชาชนถูกสังหารจากการปราบปรามการประท้วงอย่างน้อย 181 คน เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน 135 คน และเสียชีวิตจากการถูกโจมตีทางอากาศ 114 คน ทั้งนี้ มีประชาชนอย่างน้อยนับหมื่นรายถูกจับกุมตัว กว่า 8,000 รายยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของกองทัพเมียนมา

000_9789EQ.jpg

นอกจากนี้ มีประชาชนชาวเมียนมาต้องพลัดถิ่นจากการโจมตีของกองทัพเมียนมาอย่างน้อย 701,425 คน โดยเป็นประชาชนในเขตซะไกง์ 254,200 คน เขตมะเกว 139,260 คน รัฐกะยา 104,746 คน รัฐชิน 54,525 คน รัฐฉาน (ตอนใต้) 49,300 คน รัฐกะเหรี่ยง 49,101 คน รัฐคะฉิ่น 23,350 คน รัฐฉาน (ตอนเหนือ) 13,085 คน เขตมัณฑะเลย์ 10,100 คน เขตตะนาวศรี 2,200 คน เขตพะโค (ตะวันออก) 1,518 ราย และ รัฐฉาน (ตะวันออก) 40 ราย

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ผิดไปจากการคาดการณ์ว่า กองทัพเมียนมาอาจจะไม่กล้าใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุผลของการแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของประเทศ เหตุดังกล่าวจึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ไม่ทันยุคสมัยของมินอ่องหล่ายน์ จนประชาธิปไตยของเมียนมาไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่มือรัฐบาลพลเรือนได้อย่างเต็มรูปแบบ

ศิรดา เขมานิฎฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุในงานเสวนาเมื่อ 2 เดือนก่อนว่า กองทัพเมียนมายังคงมีความกลัว และยังคงมีความเปราะบางต่อการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ จากการลุกฮือของประชาชนที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การกดปราบของกองทัพเมียนมาต่อประชาชน กลับไม่สามารถทำให้ประชาชนสยบยอมต่ออำนาจเผด็จการได้ กองทัพเมียนมาจึงไม่สามารถควบคุมอำนาจของประเทศ และถือครองความชอบธรรมได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากรัฐบาลใต้ดินอย่างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่ถูกตั้งขึ้นโดยผู้นำฝ่ายพลเรือนเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ประกอบกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ของประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งถูกกองทัพเมียนมาประกาศให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายแล้ว การรัฐประหารในครั้งนี้ยังเป็นตัวขับเน้นการกดขี่ชนกลุ่มน้อยจากกองทัพเมียนมาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง กะฉิ่น ไปจนถึงโรฮิงญาที่ถูกกองทัพเมียนมาเข้าโจมตีทางอากาศอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา

000_9Q22GE.jpg

นอกจากการโจมตีอย่างหนักแล้วนั้น กองทัพเมียนมายังอาศัยยุทธวิธี ‘ตัด 4 สิ่ง’ เพื่อมุ้งเป้าตัดกำลังกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศ ได้แก่ การตัดการเข้าถึงอาหาร ทุน ข้อมูลข่าวสาร และการเกณฑ์กำลังคน ผ่านการสกัดเส้นทางการขนส่งเสบียง สังหารผู้ต้องสงสัยว่าจะเข้าร่วมกองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมา ไปจนถึงการเผาทำลายหมู่บ้านในหลายแห่ง

จากการคาดการณ์พบว่า มีประชาชนและกองกำลังชนกลุ่มน้อยราว 80 ถึง 90% ที่ต่อต้านการทำรัฐประหารและการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศโดยกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ การที่กองทัพเมียนมายังไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำได้อย่างเด็ดขาดในประเทศ ณ ตอนนี้ เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นต่อต้านโดยประชาชน ทั้งการงดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการหยิบอาวุธขึ้นสู้ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหลักที่สำคัญที่สุด เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เมียนมาเข้าสู่ภาวะการเกิดสงครามกลางเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


อองซาน ซูจี ที่ถูกจองจำ

ตั้งแต่การจับกุมตัว อองซาน ซูจี ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา กองทัพเมียนมาได้ใช้การกักขังตัวเธอ ตลอดจนงดการเข้าเยี่ยมของทนายและสื่อสารมวลชน อองซาน ซูจี ไม่เคยปรากฏตัวต่อประชาชนอีกเลยนับตั้งแต่วันนั้น ทั้งนี้ รัฐบาลพลเรือนเมียนมาชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563 ที่มีประชาชนกว่า 27.5 ล้านคนลงคะแนนเสียงเลือกให้พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยกลับมาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลอีกครั้ง สร้างความไม่พอใจให้แก่พรรคฝ่ายสนับสนุนกองทัพเมียนมา ตามมาด้วยการใส่ร้ายว่ารัฐบาลพลเรือนโกงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ยังคงไม่มีหลักฐานใดๆ พิสูจน์ถึงคำกล่าวอ้างของกองทัพได้

272828653_3062098977344897_2247462280311758425_n.jpg

ตลอดการบริหารงานของ อองซาน ซูจี ตั้งแต่การชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2558 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ทำให้กองทัพเมียนมาต้องถอยหลังกลับไปตั้งหลักอีกครั้ง หลังจากเสียงประชาชนทั่วทั้งประเทศปฏิเสธอำนาจของกองทัพ และเรียกร้องให้ อองซาน ซูจี กับคณะขึ้นปกครองประเทศ เธอได้พยายามถ่วงดุลการดำเนินนโยบายของรัฐบาลพลเรือน ท่ามกลางอำนาจและตัวแทนจากกองทัพเมียนมาในระบบรัฐสภามาโดยตลอด

หนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับ อองซาน ซูจี จากประชาคมโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ อองซาน ซูจี พยายามถ่วงดุลกับกองทัพเมียนมามาโดยนั้นตลอดหนีไม่พ้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ของเมียนมา ทั้งนี้ กลุ่มชาวโรฮิงญาถูกชาวเมียนมาจัดให้เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติของประเทศ และพยายามผลักดันให้มุสลิมชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ออกนอกประเทศ เนื่องจากความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ ซึ่งอองซาน ซูจี ไม่สามารถจัดวางจุดสมดุลในเรื่องดังกล่าวได้

ชาวเมียนมาหลายราย ซึ่งเป็นกลุ่มคนเคร่งศาสนาพุทธให้การสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมดังกล่าวกว่าหลายพันชีวิต ชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 700,000 คน ต้องลี้ภัยออกนอกเมียนมา อองซาน ซูจี ปรากฏตัวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 2562 ก่อนที่ อองซาน ซูจี จะปฏิเสธข้อหาว่ากองทัพเมียนมาไม่ได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวเธอจากประชาคมโลกอย่างหนัก

000_1IX0BI.jpg

ชื่อเสียงของ อองซาน ซูจี ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของเมียนมาในสายตาชาวโลกถดถอยลง หลังจากความพยายามในการถ่วงดุลกับกองทัพเมียนมาบนประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ดี ความพยายามในการรักษาสมดุลทางอำนาจของ อองซาน ซูจี และกองทัพเมียนมากลับล้มเหลว เนื่องจากกระแสความเป็นประชาธิปไตยภายในประเทศที่เพิ่มสูงมากขึ้น ได้กลายไปเป็นคำถามถึงการมีอยู่ของกองทัพในการเมืองเมียนมา เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การรัฐประหารในปี 2564 ปะทุขึ้น

หลังจากการจับกุมตัวในวันที่ 1 ก.พ. 2564 อองซาน ซูจี ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างน้อย 20 ข้อกล่าวหา ตั้งแต่กรณีการทุจริต การโกงการเลือกตั้ง การฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิด-19 ข้อหาต่างๆ อาจทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับการถูกจองจำอย่างน้อย 160 ปี ทั้งนี้ มีการตัดสินลงโทษ อองซาน ซูจี มาแล้ว 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกศาลตัดสินจำคุก อองซาน ซูจี 4 ปี ก่อนที่ มินอ่องหล่ายน์ จะประกาศลดโทษให้เธอครึ่งหนึ่ง จนกระทั่งมีการตัดสินโทษอีกครั้งให้เธอถูกจำคุกอีก 4 ปี ทำให้ อองซาน ซูจี ถูกสั่งจำคุกแล้วอย่างน้อย 6 ปี

000_9AU7Y6.jpg


บ้านเมืองล้มเหลว เศรษฐกิจล้มละลาย

ประชาชนเมียนมาจำนวนมากลาออกจากงานทั้งในอาชีพ แพทย์ พยาบาล วิศวกร ครู ฯลฯ เพื่อประท้วงกองทัพเมียนมาจากการทำรัฐประหาร และเรียกร้องการได้คืนมาของระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนการปล่อยตัว อองซาน ซูจี และผู้นำรัฐบาลพลเรือน ทั้งนี้ ก่อนหน้าการรัฐประหารนั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เมียนมาอาจมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าขึ้นในปี 2564 อย่างไรก็ดี จากตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนหลังการรัฐประหารนั้นอยู่ในอัตราที่หดตัวลงถึง 18%

000_1PZ66J.jpg

นอกจากนี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คาดการณ์จากผลสำรวจในชาวเมียนมากว่า 1,200 ครัวเรือนว่า ความยากจนของเมียนมาจะทวีความรุนแรงขึ้นถึงสามเท่าตัวในช่วงต้นปี 2565 หมายความว่า เมียนมาจะประสบกับการสูญเสียชนชั้นกลางของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การนำของกองทัพเมียนมา

สำหรับอัตราเงินจ๊าดของเมียนมานั้น ตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2564 มูลค่าของเงินจ๊าดนั้นลดลงไปมากกว่าครึ่งของมูลค่าเดิม ส่งผลให้ราคาการนำเข้าสินค้าอย่างเชื้อเพลิงและน้ำมันประกอบอาหารพุ่งสูงขึ้น ประชาชนชาวเมียนมาไม่มีเงินถือในมือ ประกอบกับความน่าเชื่อถือของธนาคารในเมียนมาปรับลดหดตัวลง 

000_9696EN.jpg

ผลลัพธ์จากการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ปีก่อน ส่งผลให้จากเดิมที่เมียนมาถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังการเปิดประเทศในปี 2553 จากการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติมาในประเทศ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตชาวเมียนมานั้นถูกยกระดับขึ้น แต่การคาดการณ์ทุกอย่างกลับไม่เกิดขึ้นจริง เพราะการรัฐประหารตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้พรากโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนชาวเมียนมาทั้ง 10 ปีที่ผ่านไปทั้งหมด

นอกจากนี้ ชาวเมียนมายังได้มีการรณรงค์ไม่จ่ายค่าไฟให้แก่หน่วยงานการไฟฟ้า ซึ่งเป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่งของกองทัพเมียนมา จนกองทัพต้องส่งพลทหารเคาะตามหน้าประตูบ้านของประชาชน เพื่อขอให้มีการจ่ายค่าไฟ การรณรงค์ไม่จ่ายค่าไฟดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งในการต่อสู้ของพลเมืองโต้กลับในเมียนมา

000_8Z94BG.jpg

นอกจากค่าไฟฟ้าฟ้าแล้ว กองทัพเมียนมายังไม่ได้รับการจ่ายภาษีจากประชาชน รวมถึงเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ทำให้กองทัพเมียนมาสูญเสียรายได้เดิมที่เคยมีในรัฐบาลพลเรือนไปกว่าหนึ่งในสาม โดยหากคำนวณแค่ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนงดจ่ายให้กับกองทัพเมียนมา ก็คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาทแล้ว

การบริหารมวลชนและระบบสาธารสุขของเมียนมา เช่น การแพทย์ การศึกษา แทบจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ปัจจุบันนี้ กองทัพเมียนมาระงับโครงการระยะยาวหลายโครงการลง โดยเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากกองทัพเมียนมากำลังประสบกับภาวะขาดแคลนทุนอย่างหนัก ประชาชนยังคงเดินหน้าแบนสินค้าและบริการต่างๆ ของกองทัพเมียนมาตั้งแต่เบียร์ไปจนถึงกิจการธนาคารด้วยเช่นเดียวกัน 


กลไกอาเซียนช่วยแก้ปัญหาเมียนมา (?)

หลังการปกครองประเทศเต็มรูปแบบของมินอ่องหล่ายน์ ผู้นำเผด็จการรายนี้ได้สัญญาว่าตนจะจัดการเลือกตั้งในเมียนมาให้ได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ องคาพยพของเผด็จการเมียนมาได้พยายามแสวงหาความยอมรับจากประชาคมโลกซึ่งมีเหลือเพียงแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่จะสามารถยอมรับระบอบเผด็จการที่มาจากการทำรัฐประหารต่อรัฐบาลพลเรือน

000_9CX6Q7.jpg

ประชาคมโลกคาดหวังว่าอาเซียนซึ่งมีเมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิกนั้น จะสามารถเป็นตัวกลางช่วยให้เมียนมาหาหนทางกลับคืนสู่สันติภาพ และการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง สัญญาณบวกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 หลังผู้นำจากรัฐสมาชิกอาเซียนได้บรรลุ ‘ฉันทามติ 5 ประการ’ ซึ่งมีใจความระบุถึงเงื่อนไขการเปลี่ยนผ่านเมียนมาสู่สันติภาพอีกครั้ง ได้แก่

1. จะต้องมีการยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมาทันที และทุกฝ่ายจะต้องมีการยับยั้งชั่งใจการการลงมือกระทำการใดๆ อย่างที่สุด

2. จะต้องมีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแสวงหาหนทางสู่สันติภาพเพื่อประโยชน์ของประชาชน

3. ผู้แทนพิเศษอาเซียนของประธานอาเซียนจะต้องอำนวยความสะดวกในการช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างกระบวนการเจรจา ด้วยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ AHA

5. ผู้แทนพิเศษและคณะของอาเซียนจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

000_98M7BD.jpg

ความพยายามของอาเซียนเมื่อ เม.ย.ปีก่อน ช่วยให้เกิดความหวังว่าองค์กรประชาคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ จะทำให้เมียนมาหวนคืนสู่สันติภาพ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ระบุว่า ฉันทามติทั้ง 5 ประการจะเป็นประโยชน์แก่สถานการณ์ในเมียนมา และมินอ่องหล่ายน์เองควรนำข้อเสนอของอาเซียนไปพิจารณาเพื่อหาทางออกของประเทศ ทั้งนี้ ลียอมรับว่ากระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลาอีกนานในการหาทางออกให้แก่เมียนมาผ่านกระบวนการของอาเซียน

อย่างไรก็ดี ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักมุ่งประเด็นไปที่หลักการ ‘ไม่แทรกแซง’ กิจการภายในของแต่ละประเทศจากประเทศอื่น ที่ชาติสมาชิกอาเซียนยึดถือกันมาโดยตลอดจากกฎบัตรอาเซียน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้อาเซียนเปรียบเสมือนองค์กรเสือกระดาษของภูมิภาค ที่ไม่สามารถทำให้เกิดข้อบังคับที่เป็นรูปธรรมขึ้นได้ และถึงแม้ฉันทามติ 5 ประการจะถูกประกาศประกาศมาแล้วกว่า 10 เดือน แต่กองทัพเมียนมากลับยังคงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากอาเซียนแล้ว สหประชาชาติเองก็มีบทบาทต่อประเด็นการรัฐประหารเมียนมาไม่ต่างกัน โดยนักวิชาการหลายฝ่ายมองว่า องค์กรโลกบาลเหล่านี้ยังคงไม่มีเขี้ยวเล็บใดๆ ที่จะสามารถเข้ามาจัดการกับปัญหาความรุนแรงในเมียนมาได้ อย่างไรก็ดี การคว่ำบาตรและงดขายอาวุธแก่เมียนมาจากสหรัฐฯ และยุโรป กลับไม่สามารถตัดกำลังกองทัพเมียนมาได้มากพอ เนื่องจากจีนและรัสเซียซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจที่ปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ก็มีท่าทีที่พร้อมจะให้การสนับสนุนแก่เมียนมาในฐานะพันธมิตรที่ไว้วางใจต่อกันและกัน 

000_9VR7QY.jpg


ซ้ำร้ายไปยิ่งกว่านั้น เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2565 ได้เดินทางเยือนเมียนมา และเข้าพบมินอ่องหลายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร นับเป็นการเดินทางเยือนเมียนมาระดับผู้นำประเทศครั้งแรกหลังการรัฐประหารเมียนมาเมื่อปีก่อน สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกอย่างหนักถึงท่าทีของประธานอาเซียนอย่างกัมพูชาในครั้งนี้

ข้ออ้างของการเดินทางเยือนเมียนมาของ ฮุน เซน คือ การพูดคุยเพื่อเจรจาหารือในประเด็นข้อตกลงการหยุดยิงในเมียนมา ซึ่งข้อตกลงเดิมกำลังจะหมดลงใน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ดี ฮุน เซน เข้าพบเพียงแต่มินอ่องหล่ายน์ และไม่มีการเข้าพบกันระหว่างประธานอาเซียนและ อองซาน ซูจี แต่อย่างใด ซึ่งทำให้โลกจับตาว่า กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนอาจจะกำลังรับรองความชอบธรรมของกองทัพเมียนมาในการทำรัฐประหารไปโดนปริยาย

000_9QE9X8.jpg

การเดินทางเยือนเมียนมาของ ฮุน เซน ไม่ได้ถูกวิจารณ์แต่จากประชาคมโลกเท่านั้น แต่ผู้นำในอาเซียนเองอย่าง อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่า มาเลเซียจะไม่ให้การสนับสนุนความพยายามใดๆ ที่จะมีการเชิญตัวแทนจากกองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ในขณะที่ ฮุน เซน เคยระบุถึงท่าทีของตนที่มีต่อเมียนมาว่า หากกัมพูชา “ไม่ทำงานร่วมกับทางการเมียนมา แล้วจะทำงานร่วมกับใคร”


ไทยกับวิกฤตเมียนมา

ท่าทีในภาพใหญ่ของไทยที่มีต่อเมียนมานั้นยังคงถูกกล่าวอ้างว่ายึดตามหลักการของอาเซียน ในการแสวงหาหนทางสู่สันติภาพแก่เมียนมา แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยกลับไม่มีท่าทีที่เป็นตัวของตัวเองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาที่เป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำกลับถูกมองว่ามีท่าทีที่ใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมาอย่างน่าสงสัย

Eu-h03OVIAYO8pL.jpg

หลังจากการรัฐประหารเมียนมาได้ไม่ถึงเดือน 24 ก.พ. 2564 วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวจากคณะรัฐประหารของกองทัพเมียนมาแทนที่ อองซาน ซูจี ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ประเทศไทย ส่งผลให้ประชาคมโลกวิจารณ์ท่าทีของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ วันนา หม่อง ละวิน ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาคนแรก ที่เดินทางเยือนต่างประเทศ ซึ่งก็คือประเทศไทย ภายหลังจากการทำรัฐประหารเมียนมา ทั้งนี้มีรายงานข่าวโดยสื่อของเมียนมาว่า วันนา หม่อง ละวิน มีการพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ และ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ก่อนการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น

51B327F2-D56B-4C87-8863-AFE22FCA0227_w1023_n_r1_st.jpg

มุ่งเน้นการหารือเรื่องความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคีภายในกรอบการทำงานของอาเซียน คือ ข้ออ้างการเข้าพบไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากกองทัพเมียนมา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาแก้ต่างต่อสื่อมวลชนว่า การเดินทางเยือนในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองทัพเมียนมา ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการเมียนมา แต่เป็นความพยายามที่จะช่วยให้เมียนมาสามารถกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยให้ได้เร็วที่สุด

ท่าทีความสนิดชิดเชื้อที่ไทยมีต่อเมียนมายังไม่ได้หมดลงแต่เพียงเท่านี้ เพราะในวันที่ 14 พ.ย. 2564 ดอน ได้เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพื่อนำของบริจาคจำนวนรวม 17 ตันส่งมอบให้แก่เมียนมา ก่อนที่ดอนจะได้มีการเข้าพบมินอ่องหล่ายน์ด้วยเช่นกัน

การเดินทางเยือนเมียนมาและเข้าพบหัวหน้าคณะรัฐประหารของดอน ทำให้ไทยตกอยู่ภายใต้การถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง จนนำมาสู่กระแสวิจารณ์ว่า นี่อาจเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่ถูกเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ที่สหรัฐฯ จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา

ไทยยังคงขาดบทบาทนำในภูมิภาคในฐานะตัวกลางระหว่างกองทัพเมียนมากับประชาชนชาวเมียนมา เพื่อการพูดคุยเจรจาหาทางออกอย่างสันติวิธี ตามกลไกประชาธิปไตยและหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน นักวิชาการหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ท่าทีที่ใกล้ชิดของรัฐบาลไทยกับกองทัพเมียนมา อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับเมียนมาเอง

000_94U74Y.jpg

กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวเมียนมายังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่ามกลางการกดปราบจากกองทัพเมียนมาที่ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมิได้คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ชีวิตของผู้คนหลายพันรายต่างต้องสังเวยให้ความอธรรมของระบอบปกครองจากการรัฐประหาร ที่ถึงแม้จะผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปี แต่กองทัพยังคงไม่สามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการลงบนแผ่นดินเมียนมาได้อย่างเต็มรูปแบบ จากการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนเป็นสำคัญ