ไม่พบผลการค้นหา
"ศักดิ์สยาม" จ่อชง ครม.ไฟเขียวแผนใช้ยางพาราในโปรเจกต์คมนาคม พ่วง MOU ร่วม ก.เกษตรฯ ดัน "ชาวสวนยาง" ผลิต-จำหน่ายตรงไม่ผ่านนายหน้า โกยเงินถึงมือกว่าร้อยละ 70 พร้อมแปลงงบฯ ปี 63 ดึงเงินที่เหลือมาดำเนินการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า (19 พ.ค.) กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอบรรจุวาระพิจารณาการดำเนินการจัดทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) สามารถใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ เพื่อให้กรมบัญชีกลางบรรจุลงในรายละเอียดต่อไป รวมถึงนำเสนอ (ร่าง) บันทึกลงนามข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายและผลิตโดยตรงให้กับกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยไม่ผ่านบริษัทอื่นๆ หรือนายหน้า

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้น จะนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2563 บางส่วน และอยู่ระหว่างการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนที่เป็นพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (PARA AC) ให้เหลือเพียงแค่แอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC) เท่านั้น เพื่อนำงบประมาณส่วนที่เหลือ มาจัดทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมรายละเอียด และตรวจสอบว่าจากการเปลี่ยนแปลงงบประมาณนั้น มีเหลือเท่าใด ในวันที่ 14 พ.ค. 2563 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคม ได้ตั้งเป้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะนำยางพาราไปใช้กับถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไประยะทางประมาณ 12,000 กิโลเมตร (กม.) โดยจะใช้ยางพาราประมาณ 300,000 ตัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในการสร้างความต้องการ (Demand) ของใช้น้ำยางพารา รวมถึงความปลอดภัย ที่ผ่านการทดสอบมาแล้วจากทั้งในประเทศ และประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่มาตรฐานด้านความปลอดภัยด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากวิธีการดำเนินการในอดีตที่ผ่านมานั้น หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรเพียง 5.1 บาท หรือ ร้อยละ 5.1 เท่านั้น แต่วิธีที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการ ทั้งในเรื่องของแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรประมาณ 70 บาทขึ้นไป หรือร้อยละ 70