แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติเอกฉันท์ ไฟเขียวให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ... ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 30 คน เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีพิจารณาว่าบทเฉพาะกาลในร่าง พ.ร..ในมาตรา 91 - 96 เป็นกรณีที่กำหนดให้ในวาระ 5 ปีแรกของ ส.ว.ให้มีการสรรหา ส.ว.จาก 10 กลุ่ม แบ่งประเภท ส.ว.ที่มาจากสมัครโดยตรง และเสนอโดยนิติบุคคล เปลี่ยนจากเลือกไขว้มาเป็นเลือกในกลุ่ม
ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลประกอบมติเอกฉันท์ว่า “มาตรา 91- 96 เป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น ทั้งยังเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ประกอบมาตรา 269”
กระนั้น ยังมีอีก 1 ยังมีร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ..... ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติในวันที่ 30 พ.ค.
เมื่อชนวนระเบิดขวางเลือกตั้งถูกปลดไป 1 ฉบับ แต่ยังมีอีก 2 ชนวนอันตรายที่เสี่ยงกระทบโรดแมป
ชนวนที่หนึ่ง...ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ที่ สนช. 27 คน เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย 2 กรณี 1.ตัดสิทธิคนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ 2.ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับผู้พิการ ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ
อันเป็นร่างกฎหมายที่ยังต้องลุ้นระทึกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะปล่อยผ่านได้สะดวกเหมือน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ...หรือไม่
วันที่ 30 พ.ค.จึงมีแนวโน้มออกมาได้เป็น 3 ทาง
1.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะเหมือนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.... ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ
2.ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ขัดสาระสำคัญ ซึ่งตัดเฉพาะข้อความที่ขัดรัฐธรรมนูญ หากข้อความที่ศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญไปพันกับมาตราอื่นก็ต้องย้อนกลับมาแก้ไขโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แต่คาดว่าใช้เวลาไม่นาน
3.ขัดรัฐธรรมนูญ ที่เป็นสาระสำคัญ เท่ากับว่าร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไปทั้งฉบับและเริ่มร่างกันใหม่
แหล่งข่าวจาก กรธ. คาดการณ์ว่า แนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย น่าจะออกมาในทางขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะปมที่ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับคนพิการ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ แต่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ มากกว่าในทางที่ขัดรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นสาระสำคัญแล้วตกไปทั้งฉบับ
กรธ. จึงมีเตรียมแผน 2 หากเกิดอุบัติเหตุ ตามที่ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ประธาน กรธ. กล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งทั้งฉบับ กรธ.ต้องกลับมาจัดทำร่างใหม่ โดยแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้งแล้วส่งไปยัง สนช.พิจารณา หากแก้เพียง 1-2 มาตรา ก็พิจารณา 3 วาระรวดได้ จึงไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ใช้เวลาทั้งขั้นตอน สนช. 2-3 สัปดาห์น่าจะจบ ไม่น่าจะรื้อหรือทำอะไรใหม่
เท่ากับว่าหากขัดรัฐธรรมนูญ...ไม่ว่าทั้งขั้นตอนใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ยิ่งใช้เวลาแก้นานเท่าไหร่ โรดแมปเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็จะทำให้ระยะทางโรดแมปห่างไปเท่านั้น
เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.... ยืดเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน ซึ่งโรดแมปเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ได้นับรวมห้วงเวลา 90 วันเอาไว้แล้ว
ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญไม่ว่าขัดเฉพาะบางส่วน หรือ ขัดสาระสำคัญทั้งฉบับก็จะทำให้โรดแมปเคลื่อน
มีทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้การเลือกตั้งหยุดตรงป้ายกุมภาพันธ์ คือ ศาลรัฐธรรมนูญปล่อยผ่าน เหมือน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. ...
เพราะ 'พล.อ.ประยุทธ์' ย้ำชัดยิ่งกว่าชัดแล้วว่า "ผมบอกแล้วว่าเป็นไปตามขั้นตอนของผมคือต้นปี 62 ไม่มีเร็วกว่านั้น”
ชนวนที่สอง....คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่สามารถทำให้การเมืองพลิก 180 องศาได้
เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ถูกสองพรรคใหญ่ ‘เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์’ แยกกันเดินร่วมกันตี ยื่นรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินให้ช่วยตัดสินความชอบธรรมคำสั่ง คสช.ดังกล่าวว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องตรงกันว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ในการเป็นสมาชิกพรรค เพราะให้สมาชิกพรรคเก่าที่ตั้งก่อนมี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กว่า 70 พรรคการเมือง ต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน
และไฮไลท์ของเรื่องคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “คำสั่งมีสถานะเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป้นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ประกอบ มาตรา 45 อีกทั้ง ยังมีลักษณะลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางสังคม และความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้”
โดยศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอภิปรายในวันที่ 30 พ.ค. ก่อนจะนัดลงมติอีกครั้ง
เมื่อเปิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 พบว่า มีอยู่ 6 ข้อ
แต่ข้อที่เสียดแทงหัวใจพรรคเก่า พรรคใหญ่เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์ ก็คือ ข้อ 1 โดยยกเลิกข้อความใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ในมาตรา 140 ที่ให้สมาชิกพรรคเดิม ต้องมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน ตั้งแต่ 1 เม.ย.- 30 เม.ย. หากไม่มายืนยันให้ถือว่าขาดความเป็นสมาชิกพรรค
อันเป็นผลทำให้นักการเมืองบ้านใหญ่ มุ้งใหญ่ในพรรคเพื่อไทย ไม่กลับมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ตัวอย่างเช่น“กลุ่มวังน้ำยม” ของสมศักดิ์ เทพสุทิน บ้านใหญ่แห่งนครปฐม ของตระกูลสะสมทรัพย์ หรือแม้แต่ขุนพลภาคเหนืออย่าง ยงยุทธติยะไพรัช ก็ไม่ปรากฎกาย
และมีข่าวว่ามุ้งใหญ่ๆ ที่ไม่มายืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย จะไปร่วมงานกับพรรคทหารในอนาคต
แต่ทว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำสั่งดังกล่าวตกไป การเมืองจะพลิกกลับทันที พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ฉบับ เดิมจะนำกลับมาใช้อีกครั้ง สมาชิกพรรคที่ไม่มายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน แล้วขาดความเป็นสมาชิกพรรคก็จะกลับไปเป็นสมาชิกพรรคเหมือนเดิม
คนการเมืองในมุ้งใหญ่ที่ไม่กลับมายืนยันตัวตน ก็จะกลับเข้าไปอยู่ในพรรคเช่นเดิม
หากจะย้ายพรรค เปลี่ยนขั้ว ต้องลาออกสถานเดียว
การเมืองจะปั่นป่วนอีกหนึ่งตลบ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ระเบิดการเมือง 2 ลูก อยู่ในดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้ปลด …
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง