ไม่พบผลการค้นหา
คนงานรับจ้างหว่านข้าวโคราชฮอต เจ้าของนาจองคิวข้ามวัน เร่งหว่านข้าวต้นฤดูกาล วิ่งรอกรับจ้างปั๊มรายได้ไม่ต่ำวันละ 900 บาท ฟาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผย ปีนี้ดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกดีขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 50.44

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในพื้นที่ จ.นครราชสีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวนาใน อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีรอบใหม่ทันที 

นางสุทธิษา บานเย็น อายุ 62 ปี ชาวบ้านงิ้วเก่า ต.โนนประดู่ อ.สีดา จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ตนมีที่นาอยู่ใน ต.เสมาใหญ่ อ.บัวใหญ่ จำนวน 10 ไร่ หลังจากฝนตกลงมาจึงได้ว่าจ้างรถไถนามาทำการไถพรวนดินในแปลงนาข้าว และว่าจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านมาช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยคิดในราคาเหมาวันละ 300 บาท แต่พบว่า ช่วงนี้ค่อนข้างจะหาแรงงานรับจ้างหว่านข้าวยาก เนื่องจากเกษตรกรได้ลงมือปลูกข้าวพร้อมๆ กันจำนวนหลายราย จึงเกิดสภาวะแย่งคนงานหว่านข้าว 


"คนงานบางรายขอรับงานเพียงแค่ครึ่งวันหรือเร่งงานให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะไปรับจ้างหว่านข้าวให้เจ้าของนารายอื่น เพื่อเพิ่มรายได้" นางสุทธิษา กล่าว

พร้อมกับระบุว่า ที่ผ่านมาตนเองได้ขอให้ญาติมาช่วยในการหว่านข้าว แต่เนื่องจากญาติก็ติดทำนาของเขาเอง จึงต้องว่าจ้างแรงงานมาหว่านข้าว ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อให้ทันกับฤดูกาล

ด้านนายวิญญา สมเสาร์ อายุ 58 ปี คนงานรับจ้างหว่านข้าว บ้านกรวย ต.ดอนตะหนิน อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงนี้เจ้าของที่นาหลายแห่งต่างพยายามเร่งหว่านข้าวให้ทันช่วงที่ฝนตกลงมาใหม่ๆ จึงทำให้คนรับจ้างหว่านข้าวถูกจองตัวกันข้ามวัน โดยเจ้าของนาบางรายถึงกับต้องเหมารถยนต์มารับเพื่อที่จะให้ไปหว่านข้าวในนาของตนเอง 

สำหรับราคาค่าจ้างหว่านข้าวนั้น ถ้ารวมกลุ่ม 5-6 คน รับจ้างหว่านข้าวไม่ถึง 20 ไร่ ก็จะคิดคนละ 200 บาท แต่ถ้าเกิน 20 ไร่ขึ้นไป ก็จะคิดค่าจ้างคนละ 300 บาทต่อผู้ว่าจ้าง 1 ราย ซึ่งจะใช้เวลาหว่านแต่ละรายแค่ 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้น ดังนั้นในหนึ่งวัน คนรับจ้างหว่านข้าวหนึ่งกลุ่ม จะสามารถรับจ้างหว่านข้าวให้กับเจ้าของนาได้ 3-4 ราย ทำให้คนรับจ้างหว่านข้าวมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 900 บาท

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ 4 เดือนที่ผ่านมา รายได้ชาวนาดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย. 2561) ดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 50.44 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.61 และดัชนีราคาข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.18

โดยเมื่อแยกตามชนิดของพันธุ์ข้าวรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.55 ส่วนรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.35

ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่มีออกมาเป็นระยะๆ และความพยายามที่จะบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ได้ทั้งระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการบริการจัดการสินค้าข้าว

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2560/61 แบ่งเป็น ด้านการผลิต การตลาดและการเงิน ซึ่งในระยะยาว ยังกำหนดแนวทางในการรักษาเสถียรภาพสินค้าข้าว ได้แก่ ดำเนินการแผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ขยายการทำนาแบบแปลงใหญ่ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนเป็นแปลงข้าวอินทรีย์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตลาดกับการผลิตล่วงหน้า ยกระดับมาตรฐานคุณภาพข้าว ลดการปลูกข้าวรอบ 2 ดึงซัพพลาย (ผลผลิต) ส่วนเกินที่ออกในช่วงผลผลิตออกมาก ผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแปรรูปข้าว และพัฒนาระบบ E-Agriculture เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

คาดปีนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 13,529 บาท

ทั้งนี้ คาดว่า ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2561 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยตันละ 13,529 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยตันละ 9,207 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้นร้อยละ 15 เฉลี่ยตันละ 7,785 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยตันละ 7,514 บาท 

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2560/61 ประกอบกับบางพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความต้องการข้าวหอมมะลิอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :