ทางการแขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุเขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อยแตก ที่ทำให้น้ำไหลเข้าท่วม 8 หมู่บ้าน ประชาชนสูญหายนับร้อย โดยทางการได้ใช้เฮลิคอปเตอร์และเรือช่วยอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ซึ่งหลายคนยังคงนั่งรอความช่วยเหลืออยู่บนต้นไม้หรือบนหลังคาบ้านของตัวเอง เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนกว่า 4,000 คน เสียหายทั้งหมด เนื่องจากน้ำท่วมสูงและไหลแรง ประกอบกับฝนยังคงตกต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้สูญหายมากกว่า 100 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 20 รายแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ประสานให้รัฐบาลกลางของลาว รวมถึงชุมชนใกล้เคียงร่วมกันบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัย เช่น เสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค
เขื่อนเซเปี่ยน - เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์ ซึ่งเขื่อนดังกล่าวเป็นหนึ่งในเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมีบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 25 ร่วมกับรัฐบาลลาวและบริษัท SK Engineering & Construction บริษัทเอกชนจากเกาหลีใต้ โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 90 และกำหนดจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562
บริษัท SK Engineering & Construction เปิดเผยว่า บางส่วนเขื่อนทรุดครั้งแรกตั้งแต่วันอาทิตย์ (22 ก.ค.) ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่รอบเขื่อนให้เริ่มอพยพแล้ว ขณะเดียวกันได้ส่งทีมไปซ่อมแซมเขื่อน แต่ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยากลำบาก จนช่วงเย็นวันที่ 23 ก.ค.61 มีรายงานยืนยันว่าเขื่อนแตกมากกว่าเดิม จนน้ำไหลเข้าท่วม 8 หมู่บ้านใกล้เคียง
ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25) ว่า เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา ส่วน D (Saddle Dam D) ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อยเกิดการทรุดตัว ส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าวและน้ำไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ และลงสู่ลำน้ำเซเปียน ที่อยู่ห่างจากพื้นที่เขื่อนประมาณ 5 กิโลเมตร โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่พื้นที่กักเก็บน้ำของโครงการฯ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลาวลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างเขื่อนสำหรับทำโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งไฟฟ้าได้กลายมาหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของลาว คิดเป็นร้อยละ 30 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยรัฐบาลลาววางแผนว่า ภายในปี 2020 ลาวจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า และกลายมากเป็น "แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" แต่นักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มก็เตือนว่า โครงการสร้างเขื่อนและโรงผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม