ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับปรับขึ้นเงินเดือนศาล - อัยการ - องค์กรอิสระ ด้านรองนายกฯฝ่ายกฎหมาย แจงจำเป็นต้องปรับขึ้นร้อยละ 10 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ยันไม่ขึ้นเงินเดือนข้าราชการการเมือง

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 185 เสียงรับหลักการวาระที่ 1 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นเงินเดือนกรรมการองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ และข้าราชการฝ่ายอัยการ จำนวน 5 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

3. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ และ 5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การปรับขึ้นเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรับเงินเดือนข้าราชการ พลเรือน และทหาร ไปแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 ส่วนข้าราชการอัยการ ตุลาการ และองค์กรอิสระ ยังไม่ได้ปรับขึ้น และยังยึดโยงอยู่กับฐานเงินเดือนนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับฐานเงินเดือนดังกล่าวไม่ให้ยึดโยงกัน และเพื่อปรับให้เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ที่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นประมาณ 10% ซึ่งถึงว่าเล็กน้อย และการปรับขึ้นค่าตอบแทนจะย้อนไปถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 

ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะย้อนไปถึงปี 2548 เนื่องจากที่ผ่านมา กสม. ได้รับเงินเดือนตามพระราชกฤษฎีกา ไม่เป็นกฎหมายเหมือนองค์กรอิสระอื่น และตกค้างมาตั้งแต่ปี 2548 แต่อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยืนยันว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการทางการเมือง ที่มีส่วนได้เสียกับการกำหนดนโยบายในปัจจุบัน

"การปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ยึดหลักเป็นธรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และยึดโยงกับตำแหน่งข้าราชการอื่นๆที่ได้ปรับไปก่อนหน้านี้ ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำนองทำไมจะต้องมาพิจารณาขึ้นเงินเดือนในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ต้องขอชี้แจงว่าส่วนหนึ่งเป็นการคำนวณโดยการนำเงินเดือนและค่าครองชีพที่เคยได้มารวมกันเป็นฐานเงินเดือนอย่างเดียว" นายวิษณุ ระบุ

โดย สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดลำดับขั้นของเงินเดือนว่าจะมีความสมดุลกับตำแหน่ง หรือมีความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งข้อสังเกตุดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการต่อไป ซึ่ง สนช. มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมดจำนวน 24 คน ใช้เวลาดำเนินการ 60 วัน และแปรญัตติ 7 วัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง