คณะรัฐมนตรี เตรียมเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณารับหลักการวาระที่ 1 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นเงินเดือนกรรมการองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ และข้าราชการฝ่ายอัยการ จำนวน 5 ฉบับ เพื่อพิจารณาในวันที่ 12 ก.ค.นี้ โดยร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
2. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ....
3. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ....
4. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ทั้งนี้ นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การปรับขึ้นค่าตอบแทนจะย้อนไปถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะย้อนไปถึงปี 2548 เนื่องจากที่ผ่านมา กสม. ได้รับเงินเดือนตามพระราชกฤษฎีกา ไม่เป็นกฎหมายเหมือนองค์กรอิสระอื่น พร้อมกันนี้ได้เตรียมงบประมาณในส่วนการขึ้นค่าตอบแทนนี้ไว้แล้ว โดยแบ่งเป็นตั้งแต่ปี 2557 - 2561 วงเงิน 350 ล้านบาท และปี 2561 - 2562 วงเงิน 100 ล้านบาท รวม 450 ล้านบาท
ทั้งนี้ 'วอยซ์ ออนไลน์' ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งที่องค์กรอิสระ ข้าราชการตุลาการ รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยได้รับจาก พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานและกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2555 และพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม พ.ศ. 2554 คือ
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลฎีกา เคยได้รับเงินเดือน 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมเป็น 125,590 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เป็น เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท รวมเป็น 138,090 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) หรือเพิ่มขึ้น 12,500 บาทต่อเดือน
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค เคยได้รับเงินเดือน 73,240 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็น 115,740 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เป็น เงินเดือน 81,920 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมเป็น 131,920 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) หรือเพิ่มขึ้น 16,180 บาทต่อเดือน
ประธานองค์กรอิสระ ได้แก่ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เคยได้รับเงินเดือน 74,420 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวมเป็น 119,920 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เป็นเงินเดือน 81,920 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 131,920 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) หรือเพิ่มขึ้น 12,000 บาทต่อเดือน
กรรมการองค์กรอิสระ ได้แก่ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เคยได้รับเงินเดือน 73,240 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็น 115,740 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เป็นเงินเดือน 80,540 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็นเงิน 123,040 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) หรือเพิ่มขึ้น 7,300 บาทต่อเดือน
ส่วน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยได้รับเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแหงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2548 คือ
ประธาน กสม. เคยได้รับเงินเดือน 63,860 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็น 106,360 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เป็นเงินเดือน 81,920 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมเป็น 131,920 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) หรือเพิ่มขึ้น 25,560 บาทต่อเดือน และ
กสม. เคยได้รับเงินเดือน 62,830 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท รวมเป็น 104,330 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) เป็นเงินเดือน 80,540 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็น 123,040 บาทต่อเดือน (ไม่รวมประโยชน์ตอบแทนอื่น เช่น การประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) หรือเพิ่มขึ้น 18,710 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุม สนช. รับหลักการร่างกฎหมายทั้งหมดในวาระที่ 1แล้วจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย และส่งกลับให้ สนช. ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2-3 ก่อนประกาศใช้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ระบุถึงเหตุผลการปรับขึ้นเงินเดือนไว้ว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง