ไม่พบผลการค้นหา
หลายเสียงแสดงความเห็นในเชิงคัดค้านและแสดงความเป็นห่วงถึงความเป็นธรรมและโปร่งใสในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมองแง่ดี ให้พรรคเล็ก-ใหญ่ได้เตรียมตัว

หลังจากวานนี้ (19 ม.ค. 2561) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา 2 ซึ่งจะมีผลให้การเลือกตั้งขยับออกไปจากกำหนดการเดิมคือเดือนพ.ย. 2561 ไปนานกว่านั้นและอาจจะต้องเลื่อนไปถึงต้นปี 2562

ฝ่ายกฎหมายสองพรรคใหญ่เห็นพ้อง ว่าไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้ง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) วิเคราะห์ว่า การแก้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวสามารถทำได้หากมีเหตุจำเป็น เช่น ปัญหาการบังคับใช้ หรือความพร้อมของเจ้าหน้าที่ แต่อาจขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบตามร่างนี้จริง ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยจะหารือเพื่อโต้แย้งต่อไป

ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เห็นว่าการแก้ มาตรา 2 ในร่างกฎหมายลูก ส.ส. ไม่เหมาะสม ขัดต่อนิติประเพณี แต่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ตนจึงคิดว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายนี้ หากผ่านวาระ 2 และ 3 ใน สนช.

อ่านเพิ่มเติม

“สมชัย” ขอไตร่ตรองผลดี-ผลเสีย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทบทวนไตร่ตรอง “ผลดี-ผลเสีย” ของการกำหนดกรอบวันประกาศการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ขยายออกไป 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแม้จะกระทำได้แต่ต้องมีเหตุผลที่เพียงพอที่จะชี้แจงต่อสาธารณะให้เข้าใจว่า ปัญหาอาจเกิดจากความพร้อมของพรรคการเมือง จากการจัดการเลือกตั้งของ กกต. หรือ จากการประเมินของ คสช. โดยต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่ว่าสุดท้าย สนช.จะเห็นชอบให้กฎหมายลูกขยายกรอบเวลาหรือไม่ และวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

นายสมชัย เชื่อว่าการขยายกรอบเวลาการบังคับใช้กฎหมาย จะไม่เป็นผลดี เพราะจะส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้งที่ รัฐบาลได้มีการประกาศให้สังคมโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2561 โดยส่วนตัวมองว่าหากมีการเปลี่ยนจากร่างเดิมนั้น จะสะท้อนถึงการคิดที่ไม่รอบคอบตั้งแต่เริ่มต้นปราศจากการประเมินสถานการณ์อย่างเหมาะสมตั้ง ซึ่งในคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ 53 / 2560 ในข้อ 8 เป็นทางออกไว้อยู่แล้ว และไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างในการขยายกรอบเวลา หากใช้เป็นข้ออ้างนั้นหมายความว่าคำสั่งดังกล่าวมีเจตนาที่จะให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป

ประธานกกต.ไม่ขอวิจารณ์เลื่อน 90 วัน พรป.สส. ขอให้รอฟังมติ สนช.

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยว่าต้องรอดูความชัดเจนจากสนช.ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ หากเห็นชอบก็อาจจะกระทบต่อการเมืองตั้งให้ต้องเลื่อนออกไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี2562 ซึ่งในส่วนของกกต.ก็มีหน้าที่ที่จะดูว่ามีประเด็นที่กระทบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีก็ส่งความเห็นไปยังสนช.เพื่อตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาปรับแก้ไข แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถคาดการณ์ หรือวิจารณ์จนกว่าจะวันที่25 มกราคม เพราะกกต.เป็นฝ่ายปฏิบัติต้องทำตามกฎหมาย แต่ส่วนตัวยังเห็นว่า หากไม่ขยับก็ทำให้การพรรคการเมืองทำไพมารี่โหวตได้ทัน และส่งผลให้ไม่สามารถส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งได้

โฆษก กรธ.ฯ ขอมองแง่ดีเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคใหญ่-เล็ก ได้เตรียมพร้อม

อย่างไรก็ตาม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวยังไม่ทราบเหตุที่ กมธ. เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นสิทธิของ กมธ. และที่ประชุม สนช. จะพิจารณาว่าจะมีการกำหนดให้กฎหมายบังคับใช้เมื่อใด ทั้งนี้การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย จะมีผลต่อพรรคทหารหรือไม่ เรื่องของการเลือกพรรคขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน และการยืดเวลาออกไป 3 เดือน 90วัน คงไม่ส่งผลต่อความนิยมมาก-น้อยของ ประชาชนมากนัก แต่การยืดเวลาจะทำให้เกิดการกดดันจากสังคมให้มีการเลือกตั้งมากกว่า

นายอุดมเชื่อว่าการยืดเวลาดังกล่าว จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล เพราะความเชื่อมั่นของรัฐบาลอยู่ที่ผลงาน

อดีตกมธ. ปฏิรูปพรรคการเมืองและรองหน. พรรคปชป. ชี้ เลื่อนเลือกตั้ง-น่าเป็นห่วง

นายนิกร จำนง อดีตกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สปท. ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับที่กรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฏหมายไปอีก 90 วัน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดทั้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และ 268 ผิดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน และผิดต่อคำสั่งของ คสช. เอง

ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการขยายเวลาของการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสืบทอดอำนาจที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะเมื่อมีความชัดเจนว่าต้องจัดตั้งพรรคใหม่ และดูดนักการเมือง จากพรรคเก่า การเคลื่อนไหวเพื่อบอนไซพรรคเก่า สร้างพรรคใหม่จึงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

นายองอาจยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า น่าเป็นห่วงว่าเมื่อผู้มีอำนาจที่เคยแสดงตัวว่าเป็นกรรมการแล้วเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้เล่นในสนามเสียเอง แถมยังใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา ไปตามอำเภอใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าการเข้าสูอำนาจโดยการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่

ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องนี้ บอกเพียงสั้นๆ ว่า หากพูดอาจจะไปถึงเรื่องนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้

อ่านเพิ่มเติม

“วัฒนา” ชี้วัดใจ สนช. จะยืนข้างประชาชนหรือไม่

ด้านนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การขยายเวลาจะทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และหากส���ช. มีสำนึกว่า เงินเดือน ค่าตอบแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ตนได้รับก็มาจากภาษีของประชาชน สนช. จะต้องเลือกที่จะยืนข้างประชาชนแทนการรับใช้เผด็จการเพื่อแลกกับประโยชน์ส่วนตนอันเป็นการเนรคุณประชาชน