ไม่พบผลการค้นหา
DSI ร่วมกับ กองทัพเรือภาคที่ 2 ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาหลบหนีคดีค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานประมงบนเกาะอัมบน ซึ่งเคยเป็นคดีใหญ่ระหว่างประเทศช่วงปี 2557-2558

เมื่อวานนี้ (18 พฤศจิกายน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับกองทัพเรือภาคที่ 2 จังหวัดสงขลา จับกุม นายทนงศักดิ์ มหาทรัพยสาคร หรือ แอ๊ด เขารูปช้าง ชาวตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 22/2558 รายสุดท้ายที่หลบหนีการจับกุม ตามหมายจับศาลอาญา ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงและบังคับใช้แรงงานในเรือประมงบริเวณเกาะอัมบนของอินโดนีเซีย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานเอกชนระหว่างประเทศร่วมกันจับกุมและทลายเครือข่ายตั้งแต่ช่วงปี 2557-2558 

ในการนี้ กองทัพเรือได้ให้การสนับสนุนและปฏิบัติการร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยพลเรือโท ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ได้สั่งการให้เรือหลวงสัตหีบและเรือ ต.94 ออกไปติดตามจับกุมตัวนายทนงศักดิ์ได้ภายในเรือประมง ย.นาวา 5 ซึ่งเป็นเรืออวนช้อนปลาจาระเม็ด บริเวณทะเลนอกชายฝั่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากจับกุมตัวได้แล้ว ได้ควบคุมตัวกลับเข้าฝั่งที่ท่าเทียบเรือฐานทัพเรือสงขลา กองทัพเรือภาคที่ 2 ซึ่งจะส่งตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีและสอบสวนขยายผลต่อไป

คดีนี้เป็นคดีสืบเนื่องจากที่ผู้เสียหาย 8 รายเข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและขยายผลดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งในขณะที่ถูกหลอกลวงไปบังคับใช้แรงงานบนเกาะอัมบนของอินโดนีเซีย มีผู้เสียหายบางรายอายุต่ำกว่า 15 ปี ภายหลังผู้เสียหายสามารถหลบหนีกลับมายังประเทศไทย ทำให้พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่กำกับดูแลกองคดีการค้ามนุษย์ สั่งการให้กองคดีการค้ามนุษย์ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและขยายผลดำเนินคดีดังกล่าวในฐานะคดีพิเศษ โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 5 ราย และ 4 รายถูกดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนผู้หลบหนี 1 ราย คือ นายทนงศักดิ์ ที่เพ่ิงถูกจับกุมเมื่อวานนี้

S__12050445.jpg

แถลงการณ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และได้กำหนดเป็นภารกิจหน้าที่ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีค้ามนุษย์โดยตรง เพื่อมุ่งเน้นการจัดการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม หากมีผู้ใดพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร.1202

ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศพยายามกดดันให้ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมาตรการจริงจังในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าประมงรายใหญ่ที่ส่งให้แก่หลายพื้นที่ทั่วโลก การบังคับใช้แรงงานทาส การทำประมงเถื่อน และการค้ามนุษย์ จึงถือเป็นปัญหาร่วมกันของนานาชาติ

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2014 (พ.ศ.2557) กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จัดทำงานรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี หรือ TIP Report โดยจัดอันดับให้ไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศรั้งท้ายในการแก้ปัญหาดังกล่าว หรือกลุ่ม Tier 3 และบางประเทศในสหภาพยุโรปสั่งระงับนำเข้าสินค้าประมงไทยชั่วคราว แต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลไทยประกาศว่าจะเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

การทำงานของรัฐบาลไทยถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เลื่อนอันดับให้ไทยขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง หรือ Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2016 (พ.ศ.2559) และคงที่อยู่ระดับเดิมในปีนี้ แต่ประเทศที่ได้รับคำชมเชยจากนานาชาติมากที่สุดในภูมิภาค คือ อินโดนีเซีย ซึ่งบังคับใช้มาตรการทำลายเรือประมงผิดกฎหมายที่ถูกจับได้ในน่านน้ำทะเลอินโดนีเซีย โดยเป็นการตัดวงจรเรือประมงเถื่อนไม่ให้กระทำผิดซ้ำโดยทันที 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

สถานการณ์ค้ามนุษย์ไทยคงที่ 'เทียร์ 2 เฝ้าระวัง'

ไทยได้ขึ้นเทียร์ 2 ค้านสายตานานาชาติ

จับตาติด ‘เทียร์ 3’ ค้ามนุษย์ ฉุดเอฟทีเอ ‘ไทย-แปซิฟิก’