ไม่พบผลการค้นหา
กูเกิลยอมรับว่า อุปกรณ์ ‘กูเกิลโฮม’ อัดเสียงบทสนทนาโดยไม่บอกผู้ใช้งาน แล้วให้พนักงานฟัง พร้อมอ้างว่า อัดบทสนทนาเหล่านั้นไปเพื่อปรับปรุงระบบสั่งการด้วยเสียงให้ดีขึ้น

กูเกิลเป็นบริษัทเทคโนโลยีล่าสุดที่ออกมายอมรับว่า กูเกิลอัดเสียงของลูกค้าแบบนิรนามจำนวนไม่มาก แล้วส่งให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาทั่วโลกไปฟัง ศึกษาการพูดของผู้ใช้งาน ถอดเสียงชุดคำสั่ง เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงเทคโนโลยีของ Google Assistance หรือระบบผู้ช่วยดิจิทัลซึ่งรับคำสั่งเสียง

นอกจากนี้ กูเกิลยังกล่าวว่า กูเกิลเพิ่งรู้ว่า หนึ่งในคนที่ทำหน้าที่ศึกษาไฟล์เสียงนี้ได้ละเมิดนโยบายด้านความปลอดภัยของข้อมูลด้วยการนำไฟล์เสียงภาษาดัตช์ออกไปเผยแพร่ กูเกิลจึงจะสอบสวนกรณีนี้อย่างละเอียด พร้อมสัญญาว่า กูเกิลจะเข้มงวดมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเสียงอีกในอนาคต

แถลงการณ์ของกูเกิลออกมาไม่นานหลังจากที่ VRT NWS สำนักข่าวเบลเยียมรายงานว่า พนักงานกูเกิลให้ข้อมูลว่ากูเกิลแอบอัดเสียงผู้ใช้งานจากอุปกรณ์ ‘กูเกิลโฮม’ และลำโพงอัจฉริยะของแอนดรอยด์ แม้กูเกิลจะฟังเสียงของผู้ใช้จำนวนไม่มากนัก คิดเป็น 0.2 ของเสียงที่อัดไว้ทั้งหมด แต่การอัดเสียงผู้ใช้ก็ถือเป็นการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว โดยมากกว่า 1,000 ไฟล์เสียงที่พนักงานได้ฟัง มี 153 ไฟล์ที่ผู้ใช้ยังไม่ได้พูด “OK Google” หรือ “Hey Google” เพื่อปลุกให้อุปกรณ์เริ่มรับคำสั่ง

VRT เปิดเผยว่า ข้อมูลเสียงเหล่านี้ไม่ได้มีข้อมูลชื่อของผู้ใช้แต่อย่างให้ มีเพียงการกำหนดหมายเลขลำดับเท่านั้น แต่เสียงเหล่านั้นก็ยังมีข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่อาจทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้ได้ โดยไฟล์เสียงที่กูเกิลแอบอัดไว้มีทั้งบทสนทนาทางโทรศัพท์เกี่ยวกับงาน บทสนทนาระหว่างพ่อแม่กับลูก และการโต้แย้งกัน ซึ่งมีรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวอยู่ด้วย บางไฟล์เป็นเสียงของผู้หญิงที่กำลังมีเรื่องกังวลอย่างหนัก รวมถึงผู้ชายที่สั่งให้อุปกรณ์ของกูเกิลเสิร์ชหาหนังโป๊

ทั้งนี้ VRT ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า กูเกิลมีเกณฑ์อะไรในการเลือกอัดเสียงผู้ใช้ แต่ VRT รายงานว่า ผู้ใช้หลายคนก็เผลอไปกดปุ่มโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือระบบผู้ช่วยดิจิทัลของกูเกิลประมวลผลผิดว่าผู้ใช้ปลุกการใช้งานขึ้นมา

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รายงานของบลูมเบิร์กเผิดเผยว่า บริษัทแอมะซอนก็แอบฟังเสียงของผู้ใช้ที่ตอบโต้กับ ‘อเล็กซา’ ผู้ช่วยดิจิทัลที่ใช้คำสั่งเสียง แต่มีการอัดเสียงผู้ใช้งานจำนวนไม่มาก เพื่อนำไปช่วยฝึกระบบปัญญาประดิษฐ์เกี่ยวกับการตอบโต้กับผู้ใช้งาน บางครั้งพนักงานแอมะซอนจะแชร์ไฟล์เสียงบางไฟล์กันภายในแชทรูมของบริษัท เพื่อให้ช่วยกันฟังว่าผู้ใช้พูดว่าอะไร 

ทั้งนี้ แอมะซอนกล่าวระบุว่า ผู้ใช้สามารถไปตรวจสอบและลบเสียงที่อัดไว้ได้ในบัญชีของตัวเอง

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา สาธารณสุขอังกฤษ (NHS) เพิ่งประกาศเป็นพาร์ทเนอร์กับแอมะซอน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้อเล็กซาเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพบนเว็บไซต์ NHS ได้เลย โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธาณสุขของอังกฤษกล่าวว่า NHS จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี แต่นักเคลื่อนไหวด้านความเป็นส่วนตัวของประชาชนอ้างว่า นี่เป็น “หายนะด้านการป้องกันข้อมูล”

 

 ที่มา : Daily Mail, BBC, Business Insider