ไม่พบผลการค้นหา
‘ธนาธร’ หวนคืนเวทีปราศรัยใหญ่ เผย 3 เหตุผล ต้องกา ‘วิโรจน์’ และ ส.ก.จากก้าวไกล ยืนยัน การแก้ปัญหาเชิงประเด็นและปัญหาโครงสร้างอำนาจต้องทำไปพร้อมกัน เลือกทำแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ขณะที่ ‘ไอติม’ ชี้ ปัญหาของกรุงเทพฯ เรื้อรังหนักหนามานาน เชื่อ ‘ยาแรง’เท่านั้น วิโรจน์ เดือด! ชูจัดงบ-เปลี่ยนกติกาให้เป็นธรรม ชี้ถึงมีโครงการดีแต่ไม่จัดงบใหม่ก็ทำไม่ได้

ในการปราศรัยปราศรัยใหญ่เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ : รวมพลังอนาคตใหม่ จบปัญหาเรื้อรัง ได้เวลาเลือก ‘ยาแรง’ ณ ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่) ในช่วงค่ำที่ผ่านมา 

ธนาธร

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และประธานคณะก้าวหน้าในปัจจุบัน กล่าวว่า มีคนจำนวนมากบอกว่าปัญหาของกรุงเทพมีมากมายจนไม่สามารถแก้ได้หรือบอกให้ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ต้องไปแก้ แต่ตนไม่เคยหมดความหวังต่อเมืองนี้เ หมือนที่ไม่เคยหมดความหวังต่อประเทศไทย และเพื่อทำให้ความหวังเป็นจริง มีแต่การเลือก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 และ ส.ก.จากพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่จะทำภารกิจนี้สำเร็จได้ ด้วย 3 เหตุผลสำคัญ  

ประการที่หนึ่ง วิโรจน์ ที่หลายคนไม่รู้จักคือ ‘นักบริหารที่ประสบความสำเร็จ’ ในบริษัทซีเอ็ดซึ่งเป็นบริษัทผลิตหนังสือชั้นนำโดยไต่เต้าจากพนักงานด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี มีโครงการที่ถูกภาครัฐนำไปแนะนำและเป็นต้นแบบให้บริษัทเอกชนหลายแห่งนำไปทำตาม เช่น การทำแคมเปญรับผู้สูงอายุเข้าไปเป็นพนักงานขายหนังสือของร้าน และกำหนดว่าพนักงาน 1 ใน 3 ของซีเอ็ดต้องเป็นผู้สูงอายุ โครงการนี้ได้รับเสียงชมเชยอย่างมาก เพราะในขณะนี้สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่น่ากลัวกว่าในประเทศอื่นๆ เพราะผู้สูงอายุของไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาแก่ก่อนรวย หลายคนซึมเศร้า มองชีวิตไม่มีความหมายเมื่อไม่มีงานทำ โครงการนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง ในสมัยช่วงที่ วิโรจน์ เป็น ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กรในขณะนั้น

ประการที่สอง วิโรจน์ เป็นนักอุดมการณ์ที่นำคุณสมบัติของนักบริหาร ได้แก่ การมองปัญหา การแยกแยะปัญหาอย่างเป็นระบบ และการเอาเครื่องมือสมัยใหม่ มาแก้และตอบสนองปัญหาได้อย่างทันท่วงทีโดยมาผนวกกับความแน่แน่ กล้าหาญ และมีเป้าหมายรับใช้ประชาชน จึงทำให้เขาเป็นทั้งนักบริหารและนักอุดมการณ์ในคนเดียวกัน

“การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าต้องเลือกนักบริหาร ผมขอบอกว่าไม่ต้อง เพราะพรรคก้าวไกลมีผู้บริหารและนักอุดมการณ์อยู่ในคนเดียวกัน ซึ่งผลงานในสภาเป็นการพิสูจน์ตัวของเขาต่อประชาชนได้เป็นอย่างดีแล้ว”

ธนาธร กล่าวว่า เรื่องวาทศิลป์อาจเป็นจุดเด่นของ วิโรจน์ ก็จริง แต่สำคัญกว่านั้นคือความสามารถในการจับประเด็นในการสื่อสารเรื่องที่ยากให้ง่าย และความกล้าที่จะต่อสู่กับความไม่เป็นธรรม การอภิปรายที่โดดเด่นและทำให้ชื่อของวิโรจน์ เป็นที่รู้จักก็คือ การเปิดโปงไอโอกองทัพเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงไอโออย่างเป็นระบบในสภาผู้แทนราษฎร วิโรจน์ คือคนที่ทำให้คนไทยรู้ทันไอโอและกล้าอภิปรายโดยไม่เกรงกลัวอำนาจของกองทัพ 

“นอกจากนี้ นโยบายของ วิโรจน์ บอกว่าต้องใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นสวัสดิการให้คนกรุงเทพ จะมีงบก้อนนี้ได้ก็ต้องไปเอามาจากงบไม่จำเป็นที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ถามว่าเงินขนาดนี้จะต้องชนกับหน่วยงานราชการขนาดไหน เรื่องนี้พูดเฉยๆคงทำไม่ได้ จึงต้องการคนแน่วแน่และมั่นคง รักความเป็นธรรมพร้อมปกป้องผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ ทำไมเราจึงมักเห็น วิโรจน์ หน้าตาขึงขัง นั่นเป็นเพราะเขาเจ็บปวด เขาโกรธเพราะเขาเข้าใจคนที่ทุกข์ยาก เขาโกรธแค้นแทนคนที่ถูกกระทำ ดังนั้น มีแต่การไว้ใจคนที่เข้าอกเข้าใจคนที่เจ็บปวดแบบนี้ได้เท่านั้นจึงจะนำพลังนั้นมาสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง" 

สำหรับ เหตุผลสุดท้าย ธนาธร กล่าวว่า เป็นเพราะพรรคก้าวไกลพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างกล้าหาญ แม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบไป หรือไม่มี ธนาธร ปิยบุตร ก็ตาม

"พรรคก้าวไกลเกิดจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผู้คนที่ยังศรัทธาอุมดมการณ์ ส.ส. เจ้าหน้าที่พรรค รวมกันสร้างพรรคนี้ขึ้นมา ผ่านมากว่า 2 ปี แกนนำ สมาชิก ส.ส. แสดงให้เห็นชัดเจนแล้ว พรรคเดินไปข้างหน้าได้อย่างกล้าหาญ ยืนเคียงข้างประชาชน จริงๆ เห็นได้จากการมี ส.ส. และเจ้าหน้าที่โดนคดีความมั่นคงและ ม.112 เยอะที่สุด"

ธนาธร กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนศรัทธาพรรคก้าวไกล คือการแก้ปัญหาเชิงประเด็น แต่ขณะเดียวกันก็ตระหนักว่ามันเป็นไปไม่ได้จริง เพราะโครงสร้างอำนาจไม่เอื้อ นั่นจึงทำให้ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจไปพร้อมๆ กันด้วย

“ทั้งสองอย่างต้องทำไปพร้อมกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ พรรคยังพิสูจน์ว่า ไม่ว่าประชาชนมาจากภาคไหน หรือเป็นใครก็พร้อมยืนหยัดต่อสู้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พรรคสู้ไปพร้อมกับคนบางกลอย จะนะ ดงมะไฟ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนต่างจังหวัด ถูกกดขี่ ถูกหลงลืม แต่พวกเขาไม่ทอดทิ้งและทำให้เห็นมาแล้วในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา"

ธนาธร ย้ำว่า กทม. ก็ไม่ต่างจากประเทศไทย เพราะรูปแบบโครงสร้างการบริหารก็อปปี้มาจึง ต้องการคนไปแก้ปัญหาเชิงประเด็นและตระหนักว่าต้องจัดการโครงสร้างอำนาจไปพร้อมๆกันจึงจะพาให้ประเทศไทยไปต่อได้

"พรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาชนอย่างนี้ถ้าอยากให้มีในประเทศไทย การสนับสนุนที่ดีที่สุดก็คือกาให้เขา พรรคต่อสู้เพื่อประชาชน ประชาชนสนับสนุนพรรค สนับสนุนในทุกการเลือกตั้งเพื่อยืนยันว่า พรรคที่ยืนหยัดเพื่อผู้ถูกกดขี่ ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม จำเป็นต้องมีอยู่ในสังคมไทย ด้วย 3 เหตุผลนี้ 22 พ.ค. ผมจะเลือกวิโรจน์ และ ส.ก.จากพรรคก้าวไกล"

พรรณิการ์


พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 62 ที่ผ่านมาคือการเดินออกไปเลือกตั้งด้วยความหวัง เราหวังว่าจะมีนายกที่ชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอนาคตใหม่ที่ดีกว่า แต่ความหวังนั้นกลับพังทลายลงด้วยน้ำมือของ กกต. ที่ปรับสูตรการคำนวณ จนฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงไม่ถึงครึ่งสภา ตามมาด้วยเสียงประสานเกือบเอกฉันท์จาก ส.ว. เลือก พลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกอีกครั้ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเหยียบย่ำซ้ำเติมความหวังของประชาชนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ส่วนคนกรุงเทพฯ เองต้องเสียกลับโอกาสในการมีผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง แทนที่ปี 2560 จะได้เลือกผู้ว่าฯ คนใหม่ตามวงรอบ รัฐบาลเผด็จการกลับตั้ง อัศวิน ขวัญเมือง มาเป็นผู้ว่าฯ ยาวนานถึง 6 ปี ทั้งที่ไม่เคยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนแม้แต่แต้มเดียว

“ไม่มีประชาธิปไตยในประเทศไหนได้มาอย่างง่ายดาย เราชนะและพ่ายแพ้มาหลายครั้งเป็นเวลา 90 ปี นับตั้งแต่ 24 มิ.ย.2475 แต่เรายังสู้ทุกในสมรภูมิ ทั้งในสภา และในทุกจังหวัดที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัด 

"เพราะทุกการเลือกตั้งคือโอกาสของการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทุกการเลือกตั้งคือโอกาสของการได้นำเอาผู้แทนความหวัง ความฝันของเรา เข้าไปมีอำนาจในการบริหารประเทศบริหารงบประมาณที่มาจากภาษี จากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเรา และนี่คือเหตุผลที่ทำไม ชาวอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะก้าวหน้าหรือก้าวไกล สู้ในทุกสนามเลือกตั้ง จะเลือกตั้งใหญ่ มีนา 62 เลือกตั้งท้องถิ่น มาจนถึงเลือกผู้ว่ากทม. และนายกพัทยา”  

พรรณิการ์ ย้ำว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. วันที่ 22 พ.ค. นี้ ขอให้ย้อนกลับไปจดจำความรู้สึกในวันที่ 24 มีนาคม 62 วันที่ไม่มีใครเชื่อว่าอนาคตใหม่จะชนะเลือกตั้งหรือกลายเป็นพรรคอันดับ 3 ของประเทศ แต่พี่น้องประชาชนกาด้วยเหตุผลเดียว คือพวกเขาหวังจะเห็นอนาคตแบบเดียวกัน หวังถึงบ้านเมืองที่เป็นธรรม ที่คนเท่ากัน หวังว่าหนึ่งเสียงของพวกเขา จะส่งผู้แทนที่มีความฝันเดียวกับประชาชนเข้าสภาได้สักคน 

“22 พฤษภาคม 65 วันที่เผด็จการปล้นอำนาจไปจากเราเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จะกลายเป็นวันที่เราออกไปกา เพื่อแสดงพลังของประชาชนที่ไม่ยอมจำนน กาเพื่อแสดงว่า 8 ปีที่กรุงเทพอยู่ใต้ผู้ว่าที่เราไม่ได้เลือก ประชาชนเจ็บปวดแค่ไหน กาเพื่อแสดงความหวังว่าเราจะขีดเส้นทางอนาคตของกรุงเทพผ่านมือของเราเอง เลือกผู้นำที่พร้อมชน พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชน สร้างเมืองที่เป็นธรรม น่าอยู่กว่านี้สำหรับพวกเรา 24 มีนาคม 62 วันนั้นเรายังไม่ชนะ ไม่สามารถเอาคนอนาคตใหม่เข้าไปบริหารประเทศได้ แต่วันนี้ โอกาสเปิดขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยปลายปากกาของทุกคน โอกาสที่เราจะได้เริ่มต้นสร้างเมืองที่เท่าเทียมกัน ที่กรุงเทพเลือก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พรรณิการ์ ย้ำ 

พริษฐ์


พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากเปรียบชีวิตคนส่วนใหญ่ของ กทม. เป็นบุคคล ก็เปรียบเสมือนผู้ป่วยที่กำลังขาดแคลนสารอาหาร 4 อย่างสำคัญ สารอาหารที่ 1 คือ เงินในกระเป๋า ด้วยรายจ่ายหรือค่าครองชีพที่สูง สารอาหารที่ 2 คือเวลาที่ต้องเสียเวลาไป เช่น 50-60 ชั่วโมงต่อปี กับการนั่งอยู่ในรถที่ติดกลางท้องถนน สารอาหารที่ 3 คือ สุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งมีความเสี่ยงหลายรูปแบบ เช่น ฝุ่น PM2.5 หรือทางม้าลายที่ไม่ปลอดภัย และสารอาหารที่ 4 คือ อำนาจการกำหนดอนาคตของตนเอง 

อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าจะมีนโยบายเพื่อเติมสารอาหาร 4 อย่าง ให้กับผู้ป่วยที่ชื่อว่า กทม. อย่างเพียงพอ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกลับมาแข็งแรงหายดี เพราะผู้ป่วยป่วยเรื้อรังร่วมหลายโรคมายาวนานเกินกว่าแค่การเติมสารอาหารจะรักษาได้ ห้วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย จึงจำเป็นต้องเลือกใช้ ‘ยาแรง’ เท่านั้น  

พริษฐ์ ชี้ว่า ผู้ว่า กทม. ที่จะเป็น ‘ยาแรง’ ให้กับประชาชนได้นั้น ต้องมี 3 คุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ หนึ่งต้องเป็น ผู้ว่าฯ ที่ ‘กล้าแก้กติกา’ คุณสมบัติที่สอง ต้อง “แท็กทีมได้” ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นยี่ห้อเฉพาะกิจที่มัดรวมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ แต่ก้าวไกลเป็นยี่ห้อที่มัดรวม วิโรจน์ กับ ส.ก. ทั้ง 50 คน บนพื้นฐานของเจตจำนงที่ต้องการจะสร้างเมืองที่คนเท่ากัน และ คุณสมบัติที่สาม ต้องเป็น ผู้ว่าฯ ที่ “มองทั้งประเทศ” พร้อมร่วมแก้ปัญหาให้คนจังหวัดอื่นด้วย ตราบใดที่ กทม. ยังรวมศูนย์อำนาจ งบประมาณ และมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยใน กทม. จะกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ

“ก้าวไกล ไม่ได้มอง กทม. เป็นสุญญากาศ ที่ตัดขาดจากที่เหลือของประเทศ แต่เราต้องการแก้ปัญหา กทม. ด้วยการมอง กทม. เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ที่จะต้องไม่พัฒนาแบบสวนทางกับจังหวัดอื่น แต่ต้องพัฒนาไปควบคู่กับจังหวัดอื่น หากจะพัฒนา กทม. เราจึงจำเป็นต้องกระจายความเจริญและกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดอื่นได้ เพื่อให้ทุกคนจังหวัดมีสิทธิและงบประมาณเพียงพอในการแก้ปัญหาในพื้นที่ นำโดยผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่"

พริษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ยอมรับว่า ตนอาจจะไม่ได้มีโอกาสรู้จัก วิโรจน์ มายาวนาน แต่นอกจากอุดมการณ์ที่ตรงกันภายใต้ร่มของก้าวไกล แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่มีตรงกันคือ สโมสรฟุตบอลที่รักซึ่งเป็นสโมสรที่พร้อมลงแข่งในทุกสนาม รวมถึงพร้อมจะหักปากกาเซียนและสร้างปาฏิหารย์ในทุกการแข่งขัน 

“หลายคนอาจจะพยายามทำให้เราหลงคิดไปเองว่า ก้าวไกล ในสนาม กทม. กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรอง แต่อย่าลืมว่าในการแข่งขันครั้งนี้ เราไม่ได้ตามหลังอยู่ 1 ลูก 2 ลูก หรือ 3 ลูก แต่ในการแข่งขันครั้งนี้ เรายังไม่ได้เริ่มเตะกันด้วยซ้ำ เพราะจนกว่าจะถึงวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.บัตรเลือกตั้งยังไม่ถูกหย่อนไปในหีบแม้แต่ใบเดียว ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องไม่ใช่เกมฟุตบอลที่เราจะลงแข่งด้วยความกลัว หรือ ความกังวล การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องไม่ใช่เกมฟุตบอลที่เราปล่อยให้ใครมาเขียน script ล็อกผลไว้ล่วงหน้า แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเป็นโอกาสของพี่น้องชาว กทม. ที่จะไปหย่อนบัตรและขีดเส้นทางอนาคตของตัวเอง” พริษฐ์ ระบุ

วิโรจน์

วิโรจน์ ลักขณาดิศร ผู้สมัครผู้ว่า กทม. จากพรรคก้าวไกล ขึ้นปราศรัยใหญ่ครั้งแรกที่ลานพระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่) ชี้ การแก้ปัญหาเมืองที่ผ่านมาเหมือนกินขี้ไคลพระบิดารักษาโรค ไม่ได้ใช้ยาแรงแก้ปัญหา

วิโรจน์กล่าวว่าทุกครั้งที่คุยกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทุกคนมีไอเดียดีๆ แต่ปัญหาคือโครงการดีๆ ต้องใช้งบประมาณ เราจึงต้องจัดงบประมาณใหม่ 

“เราเห็นผู้รับเหมารายเดิมๆ ทำงานที่รับไว้เก่ายังไม่เสร็จ แต่กลับได้โครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี นี่คืออาการที่เรื้อรังของกรุงเทพมหานคร ปัญหาเหล่านี้ผมคาดหวังว่าจะมีผู้สมัครคนอื่นช่วยผมพูดบ้าง แต่แม้แต่ผู้เฉียดๆ ก็ยังไม่มีใครพูด”

ไปดูรถไฟฟ้าสายสีส้มสถานีสุดท้ายควรอยู่ที่สถานีมีนบุรี แต่ทำไมถึงมีการเพิ่มไปอีก 800 เมตร ปลายทางสถานีเป็นที่ดินเปล่า ฝากไปดูด้วยว่า เป็นที่ดินของใคร และที่ดินแบบนี้จะต้องเก็บภาษีลาภลอย

ในขณะที่ประชาชนต้องรวมขยะกองรวมหน้าบ้านรอว่ารถจะมาเก็บวันไหน ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าใหญ่รถขยะมาเก็บให้ได้ทุกวัน นี่คือความไม่เป็นธรรม 

น้ำเสียส่วนใหญ่ไม่ใช่เกิดจากบ้าน แต่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีข้อบัญญัติกำหนดว่าต้องเก็บเงิน 8 บาทต่อคิวบ์ แต่กลับถูกยกเลิกอย่างไม่ทราบสาเหตุ แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้กรุงเทพ

“นี่คือปัญหาที่เรื้อรังของกรุงเทพเกิดจากเราไม่มีงบประมาณ แต่ทำไมเราถึงผลักภาระ ต้นทุนของเมืองให้กับประชาชนแทนที่จะให้ ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้แบกรับ ส.ก. พรรคอื่นไม่แน่ใจว่าจะยอมแก้ข้อบัญญัติเหล่านี้หรือไม่ แต่ ส.ก. พรรคก้าวไกลพร้อมแก้แน่นอน”

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังพูดถึงเรื่องการปฏิรูประบบรายได้และภาษีหลายเรื่อง เช่น ถ้าเจ้าที่ดินรายใหญ่อยากเสียภาษีที่ดินในราคาถูกลง ควรเอามาทำสวนสาธารณะพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ประโยชน์

ภาษีป้าย ธุรกิจ Billboard หลายหมื่นล้าน แต่เข้าระบบเพียงแค่ 30% และมีผู้จ่ายภาษีป้ายแค่ 3,000 กว่าราย ซึ่งส่วนใหญ่เก็บจากผู้ประกอบการตัว ในขณะที่นายทุน Billboard งดการเก็บมาตลอด ผู้ว่าและ ส.ก. พรรคก้าวไกลจะเข้าไปแก้ข้อบัญญัติให้เก็บเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“วิธีคิดของเราไม่เหมือนผู้สมัครคนอื่น แล้วไม่ต้องมาพูดว่าเรา ทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ เราไม่ใช่แค่ต้องการเปลี่ยนคนแต่เราต้องการเปลี่ยนเกมนี่คือเหตุผลที่เราเลือกผู้ว่า และ ส.ก.จากพรรคก้าวไกล”

ถ้าเราเก็บงบประมาณได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราจะมีเงินมาอุดหนุนรถเมล์ จะเอาเงินมาเพิ่มสวัสดิการเด็ก ผู้สูงวัย คนพิการ จะเอาเงินไปขุดลอกท่วมเมืองขุดคลองทั่วกรุง จะเอาเงินไปปรับปรุงจุดทิ้งขยะและเพิ่มรถขยะ