ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผยพบคลัสเตอร์จำนวนมากหลังปีใหม่ โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ COVID free setting ย้ำประชาชนสังเกตอาการ หากพบความเสี่ยงรีบตรวจ ATK

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา มีการเฉลิมฉลองและสังสรรค์ในหลายพื้นที่ แต่ที่น่าเป็นกังวล คือ ร้านอาหาร กึ่งผับ หรือผับบาร์ คาราโอเกะที่เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร แต่ไม่ทำตามมาตรการ COVID free setting เป็นระบบปิด ระบายอากาศไม่ดี คนแออัดเพราะไม่จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน ไม่เว้นระยะห่าง อีกทั้งหลายๆ ร้านยังส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการแสดงดนตรีสด บางร้านปล่อยให้เล่นการพนัน จึงทำให้พบคลัสเตอร์ (Cluster) จากร้านอาหารในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มเติม เช่น โรงงาน แคมป์คนงาน สถานประกอบการ สถานศึกษา ตลาด พิธีกรรมทางศาสนาอย่างงานศพและงานแต่งงาน จังหวัดที่พบ ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชลบุรี ปราจีนบุรี สงขลา ภูเก็ต และยะลา 

"คลัสเตอร์ที่พบและน่ากังวลอย่างมาก คือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับ จังหวัด อุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อ 535 คน สุ่มตรวจ 12 คน พบสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ร้านอาหารจังหวัดชลบุรี พบผู้ติดเชื้อสะสม 163 ราย รวมทั้งคลัสเตอร์จังหวัดขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อวันปีใหม่ 232 ราย" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่าสำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงควรสังเกตอาการและเฝ้าระวัง 14 วัน หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มทำกิจกรรม พูดคุย รับประทานอาหาร ไม่ไปสถานที่เสี่ยง ขอให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบริษัทต่างๆ ให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) 14 วัน หรือให้จำกัดการทำงานแบ่งเป็นช่วงเวลา หากต้องกลับไปทำงานขอให้ใช้ชุดตรวจการติดเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าทำงาน ในสัปดาห์แรกให้ตรวจ ATK 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 วัน 

"คนที่มีอาการหรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อ ให้ตรวจด้วย ATK โดยพิจารณาความเสี่ยง เช่น มีไข้ต่ำๆ ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ กรณีผลตรวจเป็นบวกให้กักตัวและงดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่างสวมหน้ากากตลอดเวลา แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้งถุงใส่ขยะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที " นพ.โอภาส กล่าว

คาดการณ์โอไมครอน.png
  • ภาพการคาดการณ์การระบาด นำเสนอในการแถลงข่าว ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันในการป้องกันอย่างเข้มงวด สถานการณ์น่าจะเป็นแบบเส้นสีเขียว

สำหรับการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข หลังเทศกาลปีใหม่นั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้ 3 แบบ คือ

1.สถานการณ์หนักสุด (เส้นสีเทา) จำนวนการฉีดวัคซีนใกล้เคียง ธ.ค.64 หากประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อการป้องกันตัว การติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และเพิ่มสูงสุดราว 30,000 ราย ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 65

2.สถานการณ์ติดเชื้อสูง (เส้นสีน้ำตาล) จำนวนการฉีดวัคซีนใกล้เคียง ธ.ค.64 ทุกภาคส่วนป้องกันอย่างเคร่งครัด การติดเชื้อจะเพิ่มสูงสุดราว 17,000 ราย ในช่วงปลายเดือนมกราคม 65 และจะทรงตัวตัวไปจนปลายเดือนมีนาคมจึงค่อยลดลง

3.สถานการณ์ติดเชื้อปานกลาง (เส้นสีเขียว) จำนวนการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นในทุกกลุ่ม ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ประชาชนปฏิบัติตัวในการป้องกันเคร่งครัด การติดเชื้อจะค่อยๆ ขยับจนจุดพีคอยู่ที่ประมาณ 13,000 รายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 65 และจะทรงตัวก่อนจะค่อยๆ ลดลงช่วงกลางเดือนมีนาคม 

ดังนั้น เมื่อประชาชนกลับจากฉลองปีใหม่เพื่อมาทำงานตามปกติ ขอความร่วมมือให้เน้นมาตรการ work from home ให้มากที่สุด เร่งฉีดวัคซีน ทำมาตรการป้องกันส่วนตัวและขององค์กรอย่างเข้มงวด ตรวคัดกรอง ATK สม่ำเสมอ จะทำให้สถานการณ์เป็นไปตามเส้นสีเขียว 

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า หลังจากมีเดลต้า เรารู้แล้วว่าจัดการให้โควิดหมดไปไม่ได้ จึงเกิดมาตรการ living with Covid-19 และใช้ชีวิตแบบ New normal โดยต้องเน้นความสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ และเราเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยเราคุมสถานการณ์ได้ดีระดับหนึ่งจนได้ฉลองปีใหม่กันในปีนี้ เราฉีดวัคซีนกว้างขวางในปี 2564 จัดหาวัคซีนได้ 120 ล้านโดสก็เป็นไปตามแผน และตั้งใจจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ซึ่งเราก็ฉีดได้ 104 ล้านโดส

"ปี 2565 สิ่งที่เราคาดหวังคือ ปรับระบบให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น หรือที่เราเรียกว่า Endemic ทำให้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเชื้อโรคและคนอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล เชื้อจะอ่อนแรงลงไม่ทำให้คนติดเชื้อแล้วเสียชีวิต แต่อาจจะแพร่กระจายได้มากขึ้น ขณะที่คนต้องมีภูมิต้านทานซึ่งเกิดจากการฉีดวัคซีน ดังนั้น จุดสมดุลที่จะอยู่กันได้คือ ติดเชื้อได้ ไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต ระบบสาธารณสุขรองรับได้ มียารักษาที่ดีขึ้นมากขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว