คสช.ได้ออกคำสั่งให้หยุดการเลือกตั้งท้องถิ่นจนกว่าจะมีการประกาศอีกครั้งซึ่งไม่บอกว่าเมื่อใด ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2559 ก็ดูเหมือนพยายามลดอำนาจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วยการเขียนข้อบัญญัติที่กำกวม ให้อำนาจหน้าที่ของ อปท. เหลือเพียงการจัดทำบริการสาธารณะ แต่แทบไม่มีความอิสระในการกำหนดนโยบาย และบริหารบุคคล
ในช่วงปลายปี 2564 ต่อต้นปี 2565 รัฐบาลประยุทธ์ได้ให้อำนาจอำนาจเลือกตั้ง อปท.หลายระดับกลับคืนมาหลังฟรีซไป 7-8 ปี ล่าสุด คณะก้าวหน้าได้ดำเนินการในสิ่งที่เรียกว่า ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ทำให้การกระจายอำนาจถูกอภิปรายกันอีกหน
การปลดล็อกนี้ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกาใหญ่ ด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อ ‘เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น’ โดยมีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น ลดความซ้ำซ้อนของภารกิจ เพิ่มบุคลากรและงบประมาณมากขึ้น มีการเปิดรวบรวมรายชื่อตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2565 ได้รายชื่อทั้งหมด 80,772 รายชื่อยื่นสภาเมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนี้จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คาดกันว่าอาจจะบรรจุเป็นวาระเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ย.นี้
วอยซ์ทีวีจึงสัมภาษณ์ผู้บริหาร อปท. 3 ท่านเพื่อสำรวจปัญหาและความคิดเห็นต่อความเป็นไปได้ในการปลดล็อคท้องถิ่นในครั้งนี้ ได้แก่ นายเทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลอาจสามารถ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด, นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแพร่ และร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรี เทศบาลนครรังสิต
เบื้องต้นอาจต้องทำความเข้าใจร่างกฎหมาย ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ของคณะก้าวหน้ากันก่อน ว่ามีอะไรบ้าง
รัฐธรรมนูญ 2560 : กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอํานาจในการจัดทําบริการสาธารณะ “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” หมายความว่า หากกฎหมายให้อำนาจท้องถิ่นดูแลกิจการใด ก็มีอำนาจดูแลเฉพาะกิจการนั้น แต่กิจการอื่นๆ นอกจากนั้นก็เข้าไปจัดทำไม่ได้
ร่างคณะก้าวหน้า : ให้ อปท.มีอำนาจหน้าที่จัดทำทุกอย่าง ยกเว้น เรื่องการทหาร ความมั่นคงภายใน กิจการระหว่างประเทศ ธนาคารกลางและระบบเงินตรา บริการสาธาระณะอื่นที่กระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ที่จะให้ส่วนกลางทำ
ที่ผ่านมาท้องถิ่นจะได้งบประมาณร้อยละ 35 ส่วนกลางได้งบประมาณร้อยละ 65 คณะก้าวหน้าเสนอให้ท้องถิ่นงบร้อยละ 50
ทั้งนี้ หากดูงบประมาณประจำปี 2565 รวม 2.49 ล้านล้านบาท ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งได้งบรวม 7 แสนล้าน หากคำนวณแบบที่ก้าวหน้าเสนอให้ได้ 50:50 ท้องถิ่นจะได้งบรวม 1.2 ล้านล้านบาท
รัฐธรรมนูญ 60 : กำหนดผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นหรือ ในกรณี อปท.รูปแบบพิเศษให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้
ร่างคณะก้าวหน้า : สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง คณะผู้บริหารให้จากมากประชาชนหรือสภาท้องถิ่นอีกที / การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจําเป็นของแต่ละท้องถิ่น
รัฐธรรมนูญ 2560 : การกํากับดูแล อปท.ต้องทําเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศ การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
ร่างคณะก้าวหน้า : การกํากับดูแล อปท.จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ ต้องทําเท่าที่จําเป็น และมีหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบของ อปท.
กรณีที่ผู้มีอำนาจกำกับดูแลเห็นว่าการกระทำของ อปท.ใดน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนการกระทำนั้น ฯลฯ
รัฐธรรมนูญ 2560 : ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อปท.มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ นั่นคือ ท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 1,000,000 คน ต้องใช้รายชื่อ 30,000 คน ท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึง 100,000 คน ใช้รายชื่อ 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้น และเสนอเรื่องถอดถอนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ร่างคณะก้าวหน้า : ประชาชนเข้าชื่อกันให้ได้ถึงจำนวน 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้น และถ้าเป็นจำนวนที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ก็มีผลให้ผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนพ้นจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาหรือกระบวนการใดอีก
เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีอาจสามารถ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า แม้การหาเสียงแต่ละครั้งก็มีความพยายามของทุกพรรคว่าจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่พอจัดตั้งรัฐบาลได้ การกระจายอำนาจก็ยังไม่เป็นผลเพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงินหรือเรื่องคน ท้องถิ่นยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ และยังมีความซ้ำซ้อนกับการบริหารจัดการส่วนภูมิภาค
“กลายเป็นปัญหาว่าแต่ละพรรคพยายามกระจายอำนาจ แต่ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้เปิดช่องให้” นายกเทศมนตรีอาจสามารถกล่าว
โชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ให้ความเห็นว่า เจ้าของอำนาจไม่อยากปล่อยอำนาจ โดยอ้างความไม่พร้อมของท้องถิ่น มีการคอร์รัปชัน เหมือนกระจายแต่ไม่กระจาย ถึงแม้จะมีความพยายามร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นเข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ร่างไปร่างมากลายเป็นอำนาจเป็นของส่วนภูมิภาคต่อไป กลายเป็นว่าต้องขึ้นอยู่กับนายอำเภอ ผู้ว่าฯ
“แสดงว่าเขาไม่มีความจริงใจในการกระจายอำนาจ แต่มุมมองของเรา คือ ทุกคนมีความรู้ความสามารถมากพอ พวกเราพร้อมที่จะกระจายอำนาจ แต่ต้นทางไม่ปล่อยอำนาจอย่างแท้จริง” นายกเทศบาลเมืองแพร่กล่าว
ร้อยตำรวจเอก ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ให้ความเห็นว่า ในการหน้าที่สนองความต้องการของประชาชน บางจุดท้องถิ่นยังทำได้ไม่เต็มที่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง
ประการแรก กฎหมายกำหนดว่าทำได้ไหม ท้องถิ่นมีอำนาจในการทำเรื่องนั้นๆ หรือไม่
ประการที่สอง การประสานงาน เช่น ท้องถิ่นจะทำถนน ต้องไปดูว่าอยู่ในเขตของตนเองหรือเปล่า บางพื้นที่อาจได้เป็นเพียงผู้ประสานงานเท่านั้น ส่วนงบประมาณ บางส่วนทำด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องขอเงินอุดหนุน ถ้าเยอะเกินไปก็ต้องของบผูกพันข้ามปี ไม่สามารถบริหารจัดการในครั้งเดียวได้
ประการที่สาม บุคลากร มีระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริหาร เช่น บุคลากรต้องอยู่ครบ 2 ปี บางครั้งเขาไม่ได้อยากทำที่นี่ พอครบ 2 ปีขอย้ายไปที่อื่นทำให้บุคลากรในพื้นที่ขาด และต้องเติมเต็มเข้ามาใหม่ ซึ่งกว่าจะเติมเต็มก็เสียโอกาสต่างๆ เพราะคนใหม่ต้องเรียนรู้งานใหม่
เทพพร นายกเทศมนตรีอาจสามารถ ขยายความเงินๆ ทองๆ กับความคล่องตัวในการบริหารว่า แม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่น 35% แต่รัฐบาลให้จริงแค่ 29-30% เท่านั้น
เมื่อหันดูรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง อบต. เทศบาล อบจ. กับใน กทม.และปริมณทล มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กทม.หรือเมืองใหญ่รายได้ที่เก็บจัดเก็บในพื้นที่ค่อนข้างเพียงพอในการบริหารจัดการ เพราะมีภาษีที่เก็บได้จากภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม เทียบกับ อปท.ต่างจังหวัดแล้วถือว่าลำบากกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการกำหนดกรอบการใช้เงินมาแล้วจากส่วนกลาง
สมมติเทศบาลได้เงินมา 100 บาท ก็จะถูกจำกัดให้บริหารภายใต้กฎหมายและระเบียบต่างๆ เช่น เงินเดือนค่าจ้างพนักงานห้ามเกิน 40% จากเงิน 100 บาท ไม่ว่าเทศบาลจะใหญ่ขนาดไหน มีงบประมาณกี่ร้อยล้านก็จะต้องหักค่าจ้างได้ไม่เกิน 40% ที่เหลืออีก 60% จะเป็นค่าบริหารจัดการและค่าวัสดุอุปกรณ์ เหลือนอกจากนั้นอีกถึงจะเป็นงบในการบริหารจัดการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นงบ ทำถนน ขุดร่อง ต่อท่อ สร้างรางระบายน้ำ ติดตั้งเสาไฟ ขยายเขตเสาไฟ
“บางแห่งเหลืองบบริหารจัดการไม่ถึง 2-3 ล้าน บางแห่งเหลือ 5 แสน จะนำไปบริหารจัดการให้หมู่บ้านไหน งานสองงานก็หมดแล้ว กลายเป็นว่าจะพัฒนาอะไรในต่างจังหวัดมีงบประมาณน้อย พัฒนายากมากเพราะถูกจำกัดเรื่องงบประมาณ”
“ยังไม่นับเรื่องขาดแคลนบุคลากร อบต. เทศบาล อบจ. เช่น เทศบาลหนึ่งมีวิศวะกรโยธาก็จริง แต่ไม่มีวิศวะไฟฟ้า หรือบางแห่งขาดผู้อำนวยการหลายกองงาน จนต้องให้ผู้อำนวยการอีกกองมารักษาการแทน เพราะมีตำแหน่งแต่ไม่มีคนมาทำ ถ้าไปจ้างคนมาเพิ่มก็จะเกินงบ 40% ที่มหาดไทยตั้งไว้” นายกเทศมนตรีอาจสามารถกล่าว
โชคชัย นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ อธิบายว่า ทุกวันนี้งบประมาณแบ่งออกเป็น 2-3 ส่วน ส่วนที่น่าสนใจคือ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เมื่อท้องถิ่นจะทำถนนก็ต้องขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไปที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ส.ส.ในพื้นที่
“ทางแก้ไขคือ น่าจะให้อำนาจท้องถิ่นไปเลยว่าให้งบ 10 บาท ไปบริหารเอง ไม่ใช่ต้องส่งเรื่องกลับมาที่ศูนย์กลาง มากำหนดให้ศูนย์กลางเป็นคนพิจารณา ก็เลยเป็นปัญหา”
นอกจากนี้ งบท้องถิ่นที่ว่าน้อยนั้นยังต้องใช้ในภารกิจตามนโยบายรัฐบาลด้วย โดยรัฐบาลให้งบท้องถิ่นมา 35% ก็จริงแต่ให้จัดการเรื่องนม อาหารกลางวัน เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงานประจำของหน่วยงานต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลเอง อันที่จริงท้องถิ่นดูแลเรื่องเหล่านี้ให้ได้ แต่ควรเป็นงบส่วนกลางไม่ใช่ให้ใช้จากงบท้องถิ่น
เทพพร นายกเทศมนตรีอาจสามารถ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ดกล่าวว่า แม้กฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นจะมีไม่กี่ฉบับ และระเบียบที่ออกต่อเนื่องมานั้นมีมากมาย แต่ละปีมีการออกระเบียบหลายฉบับกำหนดว่าท้องถิ่นต้องทำสิ่งใด
“บางครั้งระเบียบออกมา มีแต่ระเบียบให้เราทำ แต่ไม่มีงบให้ ตัวอย่างเช่น โควิดรอบที่แล้ว ปี 2564 มหาดไทยออกระเบียบให้จัดตั้งจุดพักคอยของผู้ป่วยโควิด แต่ไม่ได้ให้เงินมาทำ เทศบาลเลยต้องเอาเงินของเทศบาลเองที่มีจำกัดอยู่แล้วมาบริหารจัดการ ทำให้เทศบาลยากลำบากเรื่องงบมากขึ้น”
โชคชัย นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ให้ความเห็นว่า กฎหมายเป็นอุปสรรคทำให้ท้องถิ่นคิดนอกกรอบไม่ได้ เพราะไม่รองรับอำนาจท้องถิ่นในการทำเรื่องต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ ถ้าเราคิดแต่กรอบเดิมๆ โอกาสที่จะก้าวหน้าก็ค่อนข้างยาก
“หน่วยตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น สตง. ป.ป.ช. ก็จะดูแค่ตัวหนังสือ มีหนังสือสั่งการไหม มีระเบียบข้อไหน คือบางทีไม่ได้มาดูผลลัพธ์ของงานที่ประชาชนได้ประโยชน์ ไปมองว่าคุณทำไม่ถูกระเบียบ ทั้งที่ไม่ได้คอร์รัปชัน แต่ระเบียบไม่ให้คุณทำ”
“ที่ผมเคยเจอคือ การจัดเก็บค่าจอดรถยนต์ แต่เก็บแล้วไม่คุ้มค่าใช้จ่ายเพราะค่าแรง 200-300 บาท แต่เก็บ 5 บาท 10 บาท เก็บมากชาวบ้านก็เดือดร้อน แล้วระเบียบออกมาว่า 1.) ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย 2.) เป็นการหารายได้ให้เทศบาล ซึ่งมันเป็นระเบียบเรียบร้อยแต่รายได้ไม่คุ้มค่า เราก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องเก็บแล้วเพราะไม่คุ้ม และมันเปลืองคนเราต้องหมุนคนไปทำงาน แต่ สตง. ป.ช.ช.ก็บอกว่านายกฯ ทำผิด เพราะตามหลักการชะลอการจัดเก็บต้องเข้าสู่สภา ก็ถูกครึ่งนึงเพราะกฎหมายออกโดยสภาเทศบาลก็ต้องยกเลิกโดยสภาเทศบาล แต่ในฐานะนายกเทศมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานก็มองว่ามันไม่คุ้มค่า ถ้าเราจะเข้าสภา ต้องไปทดลองเก็บก่อนว่าคุ้มค่าไหม กลายเป็นเราโดน ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดระเบียบ ทุจริตทำให้เกิดความเสียหาย ไปสู้ต่อในศาล ศาลก็ชี้ว่าในเมื่อไม่ได้ทุจริตและเทศบาลไม่เสียหายเลยยกฟ้อง” โชคชัยยกตัวอย่าง
ส่วนนายกเทศมนตรีนครรังสิต เห็นว่า ท้องถิ่นเป็นหน่วยต้น ๆ ที่ใกล้ชิดกับประชาชนและรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร แต่ท้องถิ่นกลับไม่สามารถดำเนินการต่างๆ ได้ 100% เพราะต้องใช้เวลาประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการบริการ เช่น ถนนรังสิตนครนายก มีการขยายถนน แต่ไม่ได้แจ้งท้องถิ่น พอเกิดปัญหารถติดก็โยนมาเทศบาลก่อน แต่ความที่ตรงนั้นไม่ใช่พื้นที่ของเทศบาล เราก็ต้องไปช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่าจะแก้ปัญหากันได้จึงใช้เวลานาน
เทพพร นายกเทศมนตรีอาจสามารถ อธิบายภาพความซ้ำซ้อนว่า จังหวัดจะมีหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดควบคุมดูแลทั้งจังหวัด ในระดับอำเภอก็จะมีหน่วยงานท้องถิ่นอำเภออีก ซึ่งก็จะดูแล อบต. เทศบาลในระดับอำเภอนั้นๆ ถัดมาก็จะเป็น อบต. เทศบาลซึ่งจะควบคุมดูแลพื้นที่ของตัวเอง แต่บางครั้งต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าฯ ที่ส่งให้ท้องถิ่นจังหวัด แล้วก็ส่งให้ท้องถิ่นอำเภอ แล้วก็ส่งมาให้ อบต.และเทศบาล
“การที่เราจะยื่นของงบจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องยื่นผ่านในระดับอำเภอแล้วไปให้ผู้ว่าฯ เซ็น แล้วจึงได้เสนอต่อกรมส่งเสริมฯ ต่ออีก ไม่ว่าจะเป็นการขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจหรือเงินเหลือจ่าย ท้องถิ่นไม่สามารถของโดยตรงจากกรม แล้วยังต้องผ่านคณะกรรมการประเมินแต่ละจังหวัดว่าท้องถิ่นไหนสมควรจะให้ คำถามคือ คณะกรรมการจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะให้หรือไม่ให้ท้องถิ่นไหน เพราะบางทีกรรมการก็ไม่ได้ลงหน้างาน บาง อบต.มีความจำเป็นมาก เรื่องน้ำประปา ฝายน้ำล้น แต่ไม่เคยได้รับการจัดสรรงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ขอแล้วขออีกก็ไม่เคยได้” เทพพรกล่าว
โชคชัย นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ยกตัวอย่างความซ้ำซ้อนของภารกิจว่า การช่วยเหลือคนจนที่บ้านผุพังน่าจะเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ กลับกลายเป็นว่าเทศบาลสำรวจ แต่ต้องไปของบจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเขามาลงเองก็ลงไม่ได้เพราะไม่มีบุคลากร มีแต่เงิน ส่วนท้องถิ่นมีคนพร้อม แต่ไม่มีเงิน
ร้อยตำรวจเอก ตรีลุพธ์ ยกตัวอย่างการทับซ้อนในการทำงาน เช่น ถนน เป็นของกรมทางหลวงและเชื่อมต่อกับเทศบาล แต่ไม่ได้บูรณาการร่วมกัน บางทีระบบของถนนหรือท่อระบายน้ำก็ไม่ได้เชื่อมกันทำให้เกิดปัญหา ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริง
นายกเทศมนตรีอาจสามารถ เห็นว่ารัฐควรเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่ และขยายเพดานงบบุคลากรจาก 40% เป็น 50% ของงบประมาณ เนื่องจากท้องถิ่นขาดแคลนบุคลากรค่อนข้างมาก
นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ มองว่า การจัดงบประมาณให้เป็นธรรมและได้สัดส่วนตามจำนวนประชากร และกฎระเบียบต่างๆ ก็ให้เขียนให้ชัดเจนเลยว่าสิ่งใดที่องค์กรท้องถิ่นทำไม่ได้ ส่วนหน่วยตรวจสอบ สตง.ป.ป.ช.จะต้องดูให้รอบด้านถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ อย่าดูแค่ระเบียบอย่างเดียว
นายกเทศมนตรีนครรังสิต เห็นว่า หากให้อำนาจท้องถิ่นมากกว่านี้ก็จะเปิดโอกาสให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าหรือไม่
นายกเทศมนตรีอาจสามารถ ตอบชัดว่าเห็นด้วยอยู่แล้ว เนื่องจากเป็น 1 ใน 22 รายชื่อผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย
นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ได้ให้ความเห็นว่าเห็นด้วยในภาพรวม แต่คิดว่าในบางส่วนอาจะต้องใช้เวลา ไม่สามารถเป็นไปได้โดยง่าย เช่นการเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นเป็น 50% ส่วนที่ไม่เห็นด้วยคือ การกำหนดให้ประชาชนลงชื่อ 3 ใน 4 ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ เพราะบางคนอาจถูกกลั่นแกล้ง กระบวนการที่เสนออาจสั้นเกินไป ควรมีกระบวนการกลั่นกรองที่รัดกุมกว่านี้
นายกเทศมนตรีนครรังสิต เห็นว่า โดยแนวคิดนั้นจะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดูเหมือนหนทางความเป็นไปได้ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้แน่ๆ คือให้ทุกหน่วยงานได้คุยกัน บูรณาการงานร่วมกัน
รายงานโดย ศิริญากรณ์ สังฆะมณี