ไม่พบผลการค้นหา
สว. ไฟเขียว เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 ด้าน ‘จุลพันธ์‘ ตัวแทน ครม. น้อมรับคำแนะนำไปปรับใช้ หวังเป็นกลไกช่วยประชาชน-หนุนเศรษฐกิจขยายตัว

วันที่ 26 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยมีการปรับลดกว่า 9 พันล้านบาท ตามที่สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ลงมติเห็นชอบแล้ว และพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของ สว. 

โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กล่าวอภิปรายขอบคุณ สว. และประทับใจในองค์ความรู้ ความตั้งใจทำงานอย่างละเอียด รวมถึงมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยรัฐบาลจะรับ และนำไปปรับใช้ในการบริหารงบประมาณฯ 

สำหรับการทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเพราะกลไกในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการขาดดุลเท่ากับมีงบประมาณมาใช้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรืออิตาลี ก็จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรัฐบาลจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือการคลังเพื่อให้งบประมาณแผ่นดินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

ส่วนการจัดหารายได้ของรัฐบาลนั้น ในการบริหารจัดเก็บรายได้ กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินโครงการต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี โดยการขยายฐานภาษี พัฒนาการบริการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ภาครัฐสูงขึ้น

โดย จุลพันธ์ ยังระบุอีกว่า การขาดดุลแผนการคลังระยะปานกลาง ปี 2568-2571 ลดลงปีละ 10,000 ล้านบาท จะทำให้การขาดดุลต่อ GDP ลดลง และน้อยกว่าร้อยละ 3 ของรายได้ต่อ GDP ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายภาษี กลไกการช่วยเหลือประชาชน จากการลดภาระด้านพลังงาน 

“รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินการเช่นนี้ เพื่อให้ประชาชนประคับประคองในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีปัญหา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้รัฐมีกลไกจัดเก็บรายได้ที่มากขึ้น ลดการอุดหนุนให้กับประชาชนด้านต่างๆ“ จุลพันธ์ กล่าว 

ส่วนประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศมีการปรับเพิ่มงบประมาณฯ เป็นในสัดส่วนโครงการซอฟต์พาวเวอร์นั้น เป็นการส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือในกรอบภูมิภาค รวมทั้งขยายความร่วมมือทางการทูต ซึ่งงบเหล่านี้มีประโยชน์ 

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีโครงการคืนครูให้นักเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการได้รับความสนับสนุนจาก สว. รวมทั้ง งบประมาณอาหารกลางวันโรงเรียนรัฐบาล-เอกชน ต้องจัดสรรงบประมาณตามกรอบกฎหมาย

ก่อนที่ในเวลาประมาณ 16.10 น. ที่ประชุม สว. ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 178 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 และงดออกเสียง 2 หลังพิจารณาร่วม 7 ชม. พร้อมกันนั้น สว. ยังมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกมธ.พิจารณางบประมาณฯ อีกด้วย