นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวในการเสวนา ตอบโจทย์ประเทศไทยทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า พรรคการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลที่ ระบุว่า มีการบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วน หรือพรรคฝ่ายค้าน ก็ยังไม่มีการขยับในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยพรรคฝ่ายค้านมีความจำเป็นต้องต่อสู้ และหากต้องการความสำเร็จจะใช้พรรคเมืองนำไม่ได้ เพราะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่ให้ความร่วมมือโดยเด็ดขาด แม้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีอันเป็นไปแล้ว แต่เราก็ยังได้พลเอกประยุทธ์ กลับมา แม้ว่าจะไล่ให้ไปอย่างไรก็ได้กลับมา เพราะทุกอย่างถูกล็อคด้วย 250 เสียงของ ส.ว.
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นปฏิบัติการที่เป็นไปไม่ได้และเป็นโจทย์ที่ยาก ซึ่งต้องทำให้เป็นไปได้ แต่หากประชาชนไม่ส่งเสียงให้เป็นเสียงเดียวกันก็จะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อน ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะไม่มียุคใดลำบากเท่ายุคนี้ ตนเองผ่านมาหมดแล้ว ทั้งติดคุก ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและกำลังจะล้มลาย
นายจตุพร ยังกล่าวว่า สิ่งที่ยากกว่าการเข้าชื่อคน 50,000 รายชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการทำให้คนทั้งประเทศเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าเหตุใดจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่แก้ไข คนไทยและประเทศไทยจะเดือดร้อนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างโดยคณะรัฐประหาร มีเงื่อนไข ข้อจำกัดมากมายที่คงไว้ซึ่งอำนาจของเผด็จการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตยของประชาชน อีกทั้งยังสร้างองค์กรมากมายโดยคนชั้นสูง โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสร้างรัฐธรรมนูญ และทั้งหมดตอบสนองเพียงกลุ่มอนุรักษ์นิยมเพื่ออยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีองค์กรเดียวที่เป็นตัวแทนของประชาชนคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพราะแม้แต่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มาจากการแต่งตั้ง จึงควรแก้ไขให้มีการร่างรัฐธรรมนูญมาใหม่ในลักษณะเปิดกว้างไม่ใช่การเข้มงวด
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงผลร้ายของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ทำให้เกิดการต่อเนื่องของการปกครองในระบอบรัฐประหาร ขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศ เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต และภาครัฐเป็นหนี้กว่า 7 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังสร้างประโยชน์ต่อชนชั้นอนุรักษ์นิยม และประชาชนต้องพึ่งพาเพียงพวกอนุรักษ์นิยมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หากทำวิธีการเดิมๆ จะแก้ไขได้ยาก จึงควรรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและร่วมกันมากๆ เล่นการออกมาเรียกร้องของประชาชนในประเทศฮ่องกง เป็นต้น
สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.ศธ.และคลัง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เป็นเพราะอำนาจของพี่น้องประชาชน ในการตรวจสอบการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลทำได้ยากลำบาก เนื่องจากมี ส.ว.250 คน ที่จัดตั้งจากกลุ่มคนเดียวกัน ทำให้เห็นพ้องกัน และไม่มีความจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน จึงทำให้การยืดโยงระหว่างรัฐบาลและประชาชนลดน้อยลงไป จะเห็นได้จากงบประมาณต่างๆ ถูกกลับไปลงที่การจัดชื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ แต่กลับไม่นำมาใส่ในรัฐสวัสดิการที่ประชาชนควรจะต้องได้
รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยังมองด้วยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือเป็นอุปสรรคชิ้นโต เพราะในประเทศไทยกลับแตกต่างในทั่วโลก ที่ใช้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงแนวทางกรอบการทำงานคราวๆ เท่านั้น แต่ของประเทศไทยไทยกลับ ทำเป็นกฏหมาย และบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำด้วย จึงเป็นข้อผูกมัดของพรรคการเมือง อีกทั้งนโยบายของพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ประชาชน ถูกบดบัง ด้วยยุทธศาสตร์ชาติฉบับดังกล่าว อย่างพรรคเพื่อไทย เคยมีนโยบายแนวคิดทำหวยบำเน็จ เมื่อไม่ถูกรางวัล เงินที่ชื้อจะไม่หายไปไหน แต่จะถูกเก็บออมไว้ และเมื่ออายุ 60 ปี ก็จะได้เงินคืน จากการชื้อรางวัล นั้นจึงเป็นการออมในอีกรูปแบบ แม้ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีนโยบายตอบสนองประชาชนอยู่มาก แต่ก็ไม่กล้านำเสนอ เพราะยังติดในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ยังคงต่อต้านการสืบทอดอำนาจ แ���ะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการสืบอำนาจอยู่ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับประชาชน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
ขณะที่น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ มองว่าคุณภาพชีวิตและปากท้องของประชาชนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้จะมีรัฐบาลที่เก่งแต่ก็ไม่สามารถทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้นได้ หากไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการจะทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะใช้พรรคการเมืองเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอำนาจสูงสุดของประชาชนคืนกลับมาประชาชนจะต้องเป็นคนทำ
โดยประชาชนจะต้องออกมาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนและทำเพื่อประชาชน แต่ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนออกมาเสียชีวิต ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันทำให้ได้ว่าสิทธิในการเรียกร้องบนถนนเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้ และต้องไม่มีใครเสียชีวิต เพราะทุกคนมีอำนาจที่จะกำหนดว่าจะให้กฎหมายที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นแบบใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยนักกฎหมาย แต่ไม่ได้เขียนจากความเดือดร้อนของประชาชนนั้นจะไม่มีความหมาย ดังนั้น ประชาชนจึงต้องแสดงออกว่าอยากให้กฎหมายสูงสุดของประเทศมีเรื่องอะไรบรรจุไว้บ้าง ส่วนนักกฎหมายมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ปรุง และเขียนให้ออกมาให้อยู่ในรูปของกฎหมาย
โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ยังกล่าวว่า การจะทำให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนนั้น ต้องเริ่มจากการจัดเวทีไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จากกลุ่มคนและอาชีพต่างๆ เพื่อแสดงออกและเรียกร้องความต้องการของตัวเอง รวมถึงจะต้องเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย และจะต้องผ่านการทำประชามติที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับ
พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่