ไม่พบผลการค้นหา
จบสิ้นการรอคอย ‘ครม.ประยุทธ์ 2/1’ ที่ใช้เวลาจัดถึง 3 เดือนกว่าจะลงตัว เต็มไปด้วยรอยร้าวระหว่างทาง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับภายในพรรคพลังประชารัฐ จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกสารจากนายกฯ ขอโทษประชาชน ถึงข่าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

โดย ครม.ชุดใหม่ เป็นไปตามคาดเกือบทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่ง รมว.กลาโหม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาคุมกองทัพด้วยตนเอง แทนสถานะ หัวหน้า คสช. ที่คุมกองทัพอยู่เดิม เพราะ ผบ.เหล่าทัพ เป็นสมาชิก คสช. และ ผบ.ทบ. เป็นเลขาธิการ คสช. แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยกล่าวว่ากองทัพไม่ต้องไปคุมก็ตาม

“เรื่องของกองทัพเขาก็คุมกันด้วยระบบ มีระเบียบวินัย ไม่ต้องไปห่วงเขา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562

แต่ในสภาวะโครงสร้างและดุลอำนาจในกองทัพที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มี ‘อำนาจเต็ม’ ในการคุมกองทัพเช่นเดิมทั้งหมด เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ หลังมีการจัดโครงสร้างหน่วย ทบ. ใหม่ โดยเฉพาะหน่วยกำลังรบหรือหน่วยกำลังปฏิวัติเดิม เป็นต้น จึงทำให้เงื่อนไขการทำปฏิวัติ-รัฐประหารเปลี่ยนไปจากอดีตด้วย

แต่คีย์แมนสำคัญยังคงอยู่ที่ ผบ.ทบ. ที่คุมกำลังรบใหญ่สุด ซึ่งในเวลานี้คือ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน แม้ พล.อ.อภิรัชต์ จะสงวนท่าทีมากขึ้นย้ำถึงการเป็นกองทัพของทุกรัฐบาลและกองทัพต้องเป็นกลางก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ ‘เพลงหนักแผ่นดิน - วาทะซ้ายจัดดัดจริต’ ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนแนวคิดของ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ไม่น้อย

อภิรัชต์ x9.jpg

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นนายทหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้การสนับสนุนมาตลอด โดยเฉพาะการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่คุมพื้นที่ กทม. ในการโยกย้าย เม.ย.57 ก่อนรัฐประหารเพียง 1 เดือน แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้กลับเข้าเส้นทางเหล็ก ทบ. อีกครั้ง จนขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 หลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกโยกไปเป็น ผบ.พล.ร.11 ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.14 เพชรบุรี

ในเวลานี้มีการจับตาไปที่ ‘บิ๊กบี้’พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่คาดว่าจะขึ้น 5 เสือทบ. ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในการโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล เดือนต.ค.นี้ เพื่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะเกษียณฯปี63 โดย พล.ท.ณรงค์พันธ์ เป็น ตท.22 - จปร.34 เติบโตมาจาก ร.31 รอ. หรือหน่วยรบหมวกแดง ของ พล.1 รอ. แต่ พล.อ.อภิรัชต์ เติบโตมาจาก ร.11 รอ. ซึ่งทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ต่างมีเส้นทางเดินที่เหมือนกัน ได้ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. แม่ทัพน้อยที่ 1 และ แม่ทัพภาคที่ 1 ตามลำดับ ซึ่ง พล.ท.ณรงค์พันธ์ จะเกษียณฯปี66

ทั้งนี้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ที่มี พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ 88467488015322_2924042382548664320_n.jpg

(พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1)

ทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ต่างเคยลงไปปฏิบัติหน้าที่ จ.ยะลา ด้วยกัน ช่วงปี2547-2548 ที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 14 ด้วยกัน จึงทำให้การลงพื้นที่ จชต. สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ท.ณรงค์พันธ์ ร่วมคณะ ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ จ.ยะลา ด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพ ทบ. ในระยะ 4 ปีต่อจากนี้ ที่เป็นช่วงเวลาการขึ้นมาของ ‘ครม.ประยุทธ์’ และรอยต่อรัฐบาลในอนาคต ที่สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ในช่วงระยะเวลา 1 ปีจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อุ่นใจไปได้บ้าง สิ่งที่ต้องรับมือคือสถานการณ์บ้านเมืองในสภาวะปกติ ที่จะไม่มี ม.44 – คำสั่งคมช. เป็นอาญาสิทธิ์ หลังได้ออก ‘ซุปเปอร์คำสั่ง คสช.’ ปิดท้าย ยกเลิกคำสั่ง คสช. 66 ฉบับ ที่ยังตกค้างอยู่

โดยเฉพาะคดีความมั่นคง โดยคำสั่ง คสช. ล่าสุด ระบุว่าให้คดีทั้งก่อนหลังคำสั่งนี้ ให้กลับไปยัง ‘ศาลยุติธรรม’ ส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหาร ให้โอนไปยังศาลยุติธรรม โดยไม่กระทบกระบวนการพิจารณาที่ทำไปแล้ว ให้ถือว่าบรรดากระบวนพิจารณาที่ได้ดําเนินการไปแล้วนั้น เป็นกระบวนพิจารณาของศาลที่รับโอนคดีด้วย ยกเว้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วย ‘ธรรมนูญศาลทหาร’ ให้อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารต่อไป

ร่วมทั้งบทบาทของ กอ.รมน. ช่วงปลายปี 2560 ได้มีการคําสั่งหัวหน้า คสช. 51/2560 แก้ไขกฎหมาย กอ.รมน. โดยเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน.จังหวัด โดยมีกรรมการ 38 โดยตั้งอัยการจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ มอบหมาย เป็นรอง ผอ.รมน.จังหวัด ฝ่ายทหาร และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ อีกทั้งมีผู้แทนมณฑลทหารบกที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดร่วมด้วย โดยมีผู้แทนส่วนราชการจากทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมในโครงสร้าง เช่น พาณิชย์ แรงงาน สาธารณสุข เกษตร ศึกษาธิการ เป็นต้น

อีกทั้งมี ‘กอ.รมน.ภาค’ ให้แม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการ โดยมีกรรมการ 31 คน อธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุด แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุด และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ

ทั้งนี้ นายกฯ จะนั่งเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง , ผบ.ทบ. เป็น รองผอ.รมน. โดยตำแหน่ง รวมทั้ง เสธ.ทบ. เป็น เลขาธิการ กอ.รมน. โดยตำแหน่งตามเดิม พร้อมกันนี้ได้ตั้ง ‘คณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน.’ ขึ้นมา 1 ชุด หรือเรียกว่า กอ.รมน.ส่วนกลาง โดยมี นายกฯหรือรองนายกฯที่นายกฯมอบหมาย เป็นประธาน และมี รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย เป็นรองประธาน มีการนำรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผบ.เหล่าทัพ ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการ โดยเพิ่มจาก 21 คน เป็น 23 คน โดยเพิ่ม รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้ามาเป็นกรรมการ ทำให้มีการมองว่าโครงสร้าง กอ.รมน. ที่เกิดขึ้นเช่นนี้เป็น ‘ซุปเปอร์กระทรวง’ หรือ ‘กระทรวงความมั่นคง’ หรือไม่

รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างศูนย์การประสานการปฏิบัติ หรือ ศปป.1-5 ของ กอ.รมน. ในการรองรับภารกิจการจัดดระเบียบสังคมและงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ที่จะสิ้นสุดพร้อม คสช. เอาไว้ด้วย

จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาร่วมครม.ชุดใหม่ แม้จะเหลือเพียงตำแหน่ง รองนายกฯ ยังคงให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่กลับมาเป็น มท.1 อีกสมัย เท่ากับว่าขั้วอำนาจ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ยังคงคุมอำนาจสำคัญ ผ่าน ‘กลาโหม-มหาดไทย’ ถือเป็น 2 กระทรวงที่มีหน่วยงานทั่วประเทศ เป็นกระทรวงหัวใจสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปล่อยให้คนอื่นมาคุมได้

ประยุทธ์ ประวิตร รัฐบาล อนุพงษ์81211113021000000.JPG

ซึ่งทั้ง พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เป็นที่ไว้วางใจของนายกฯ ผ่านการทำงานร่วมกันมากว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นร้อยตรี ร้อยโท ร้อยเอก ประจำที่ ร.21 รอ. จุดเริ่มต้น ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ นั่นเอง แม้ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ขึ้นมาคุมกระทรวงกลาโหมเอง แต่ก็เชื่อกันว่าจะทำหน้าที่เป็น ‘รมว.กลาโหมเงา’ อยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป

อีกรายชื่อรัฐมนตรีที่ฮือฮาไม่น้อยคือ ‘ผู้กองมนัส’ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่หลุดโผ รมว.แรงงาน มานั่ง รมช.เกษตรฯ แทน แม้จะเจอมรสุมเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการเผยแพร่ซ้ำประกาศสำนักนายกฯเมื่อปี 2541 ที่ใช้ชื่อ ‘พชร’ เคยถูกถอดยศ-พ้นจากราชการ ที่ผ่านมาเคยเปลี่ยนชื่อหลายครั้งเริ่มจาก ‘มนัส – ยุทธภูมิ – พชร – ธรรมนัส’ จนเป็นที่ถกเถียงว่าสุดท้ายแล้ว ‘ผู้กองมนัส’ ใช้คำนำหน้าว่า ‘ร้อยเอกหรือนาย’ และได้กลับเข้ามารับราชการเมื่อใด ? และลาออกไปเมื่อใด ?

ซึ่งต้องรอ ‘ผู้กองมนัส’ ชี้แจงหลังรับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง แม้จะเคยชี้แจงไปแล้วว่า ช่วงถูกถอดยศ ‘ร้อยโท’ ตนเป็น ‘ว่าที่ร้อยเอก’ พอดี จากนั้นมีการออกกฎหมายล้างมลทิน จึงได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ได้ลาออกจากราชการ

ธรรมนัส P_9324.jpg

แต่การที่ชื่อ ร.อ.ธรรมนัส ได้เข้าร่วม ครม.ครั้งนี้ ก็ตอกย้ำว่าเรื่องราวต่างๆในอดีตได้เคลียร์ไปหมดแล้ว ส่วนทรงผมใหม่ของ ‘ผู้กองมนัส’ ก็ถูกมองว่าตัดเพื่อรอแต่งตัวเป็นรัฐมนตรีด้วย

จึงเป็นอีกบทพิสูจน์สำคัญจากบุคคลที่เป็น ‘เบื้องหลัง’ หรือ Behind the Scene มาตลอด ได้ขึ้นมามีบทบาทนำร่วม ครม. เป็นอีกขุนพลข้างกายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ‘มือประสานสิบทิศ’ อีกสิ่งที่ต้องจับตาคือบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ ของ ‘ผู้กองมนัส’ จะขึ้นมามีบทบาทนำกว่าเดิมหรือไม่ จาก ปธ.ยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือ พปชร. ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ถึงเวลา วัดฝีมือ ‘3 พลเอก 1 ร้อยเอก’ ครม.ตู่2/1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog