ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้รัฐบาลปล่อยแกงค์คอลเซ็นเตอร์หลอกประชาชน จี้ 'ตำรวจไซเบอร์' ทำผลงานแก้ปัญหา อย่าเป็นแค่ศูนย์รับแจ้งเหตุ แนะ 'ประวิตร' เร่งแก้ไข เรียกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดิจิทัล

วันที่ 5 ก.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์อาชญากรรมทางออนไลน์ในประเทศที่กำลังเหิมเกริมอย่างหนักว่า เป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนขัดสน ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีสาเหตุหลักมาจากความเชื่องช้าไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ปล่อยให้ประชาชนต้องรับมือกับอาชญากรเหล่านี้ตามยถากรรม 

ชนินทร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ กลับมีผลงานเด่นเรื่อง “การรับแจ้งความ” มากกว่า “การปราบปราม” โดยมีการรับเรื่องร้องเรียนอาชญากรรมทางออนไลน์ต่างๆ วันละหลายร้อยราย รวมเป็นหลายหมื่นกรณี แต่กลับไม่เห็นผลงานการจับกุมดำเนินคดี หรือปราบปรามได้เท่าที่ควร ประชาชนยังต้องทนทุกข์กับอาชญากรรมออนไลน์ต่างๆ ที่นับวันยิ่งมีพัฒนาการการหลอกลวงที่แนบเนียนมากขึ้น 

ทั้งการหลอกขโมยข้อมูลผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงให้เข้าสู่ระบบพนันออนไลน์ การหลอกปล่อยกู้นอกระบบ รวมไปถึงการหลอกลวงให้เข้าสู่แชร์ลูกโซ่แบบเก่าๆที่พัฒนามาเป็น แชร์คริปโต ที่สร้างความเสียหายภายในระยะเวลาสั้นๆ ไปแล้วหลายพันล้านบาท 

ชนินทร์ กล่าวอีกว่า อาชญากรทางไซเบอร์มักใช้ช่องว่างของการควบคุมดูแลของรัฐที่หละหลวมไม่เอาจริง หลอกลวงประชาชน หากปล่อยปละละเลยไปในระยะยาวจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการปรับตัวเข้าสู่เข้าสู่ยุคสมัยของเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “Digital Economy” และประเทศไทยจะเสียโอกาสในการผลักดันการเป็นผู้นำการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนที่คาดการณ์มูลค่าสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ ตลอดจนสูญเสียความเชื่อมั่นในการผลักดันระบบราชการให้ไปเป็น e-government ด้วย จึงขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการในระยะสั้น ดังนี้

1. กำกับดูแล ‘ตำรวจไซเบอร์’ อย่างใกล้ชิด มิให้เป็นแค่หน่วยงานที่มุ่งรับเรื่องร้องเรียน แต่ต้องเร่งสร้างผลงานการปราบปรามและประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน

2. เร่งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ระบบฐานข้อมูลตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID และระบบบัญชีทางการ หรือ Official Account ให้แพร่หลาย เพื่อให้ธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆตรวจสอบและติดตามได้ 

3. ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างๆ ในการร่วมควบคุม คัดกรอง และตั้งมาตรฐานที่รัดกุมขึ้น เพื่อลดโอกาสในการใช้แพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นช่องทางก่ออาชญากรรม

“การก้าวสู่ยุคสมัยดิจิทัล ประเทศไทยต้องการผู้นำที่รู้เท่าทันเทคโนโลยี คิดอ่านฉับไว และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ต้องเร่งแสดงผลงานการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ อย่าเชื่องช้าเฉกเช่นสมัย พล.อ.ประยุทธ์ เพราะนับวันมีแต่ประชาชนที่ต้องเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ชนินทร์ กล่าว