จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี 'ร้าน ว.เครื่องประดับ พี่ใหญ่' เปิดเผยภาพและระบุข้อความว่า "ตลาดสำเพ็งไม่เคยเงียบเหงาอย่างนี้ในรอบ 50 ปีสงสารจริง" เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา สร้างเสียงตอบรับและพูดถึงสภาพเศรษฐกิจ การค้าของรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าตามพื้นที่ต่างๆ มาร่วมแสดงความเห็น
ล่าสุดเวลา 18.30 น. วันนี้ (30 มิ.ย.) มีผู้แสดงความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวกว่า 1 พันข้อความ แชร์ไปแล้วเกือบ 6 พันครั้ง
โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสภาพเศรษฐกิจและการค้าในตลาดค้าส่งค้าปลีกแห่งนี้ที่เงียบเหงา ไม่มีคนเดินซื้อของจับจ่ายสินค้าอย่างที่ผ่านๆ มา
อาทิ "เงียบทั้งประเทศ อีคนขายดีก็ขายดีขายดี๊ คนไม่ได้กว่าจะมีออเดอร์สักออเดอร์หลุดมาก็เลือดตาแทบกระเด็นและ" หรือ "เดือนนี้เงียบจริง ยอดหายเกือบแสน" หรือ "เงียบทุกตลาดละค่ะ ทุกวันนี้" หรือ "เราคิดว่าคนเลือกไม่ใช้จ่ายค่ะ"
แม้ว่า บางคอมเมนต์จะพยายามชี้ว่า การค้าแบบเดิมกำลังถูกเบียดด้วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่คนค้าออนไลน์จำนวนหนึ่งทีเข้ามาคอมเมนต์ ก็ออกเสียงว่าค้าขายไม่ได้คล่องมือนัก
อาทิ "ออนไลน์ก็อยู่ยากเหมือนกันค่ะ ตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว เงียบ-ตอนนี้ เงียบมาก ไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าวางแผงขาย ออนไลน์ที่เคยบูมบูม ก็แย่" หรือ "เดี๋ยวนี้ขายปลีกชิ้นเดียว จีนก็ส่งสู้ยากครับบอกเลย" เป็นต้น
น.ส.ภัทรวดี รัตนะศิวะกูล นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ชี้ประเด็นการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีกผ่านออนไลน์ในบทความเรื่อง "เมื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่หยุดแค่ online อีกต่อไป" ไว้ว่า เนื่องจากปัจจุบันเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายของลูกค้า จึงรู้ว่าสินค้าใดกำลังเป็นที่นิยม อีกทั้งสามารถนำรีวิวต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มที่ช่วยสะท้อนกระแสตอบรับของผู้บริโภค นำมาออกแบบสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ต่างจากพ่อค้าแม่ค้า ในแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้
การเข้าถึงข้อมูลความต้องการของลูกค้า ช่วยกำหนดประเภทสินค้าที่จะผลิต Private brand อาทิ แอมะซอน (Amazon) ได้ทำ Private brand ในหลายๆ สินค้าออกมาเป็นหลาย ๆ แบรนด์ เช่น AmazonBasics (ของใช้ทั่วไปในบ้าน เช่น สาย HDMI แบตเตอรี สายส่งสัญญาณเสียง มีด), Amazon Collection (อัญมณี), Amazon Essentials (เสื้อผ้า), Pinzon (ผ้าเช็ดตัว, เครื่องนอน) เป็นต้น
ทำให้ปัจจุบัน Amazon มีสินค้า Private brand ทั้งสิ้น 406 แบรนด์ จำนวนกว่า 23,142 ชิ้น ในส่วนของอินเดีย ก็มีผู้เล่นอีคอมเมิร์ซที่ชื่อ Flipkart ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซในท้องถิ่นที่ Walmart จากสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 77
ขณะที่ Flipkart สร้าง Private brand ขึ้นมาโดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และขายในราคาต่ำกว่าสินค้าแบรนด์ รวมถึงผู้เล่นในตลาดขนาดใหญ่จากจีนอย่างอาลีบาบา และเจดี ดอท คอม ที่ครองสัดส่วนการค้าอีคอมเมิร์ซร้อยละ 58.2 และ 16.3 ตามลำดับ ก็ได้สร้าง Private brand ขึ้นมาเช่นกัน
แล้วแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็นำสินค้า Private brand มาขายบนแพลตฟอร์มของตนเอง โดย Amazon ได้นำสินค้า Private brand มาขายบนแพลตฟอร์มของตนเองแข่งกับผู้ขายสินค้ารายอื่นด้วยราคาที่ต่ำกว่าถึงร้อยละ 15-20
อีกทั้งการเคลื่อนไหวที่สำคัญของบรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คือการไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโลกออนไลน์อีกต่อไป แต่ปรับตัวสู่การค้าช่องทางออฟไลน์ด้วย อาทิ แอมะซอนได้เข้าลงทุนในธุรกิจค้าปลีก Whole Foods รวมถึงธุรกิจรับส่งอาหารและประกอบอาหารของ Deliveroo เพื่อให้สามารถนำสินค้า Private brand ที่จ้างผลิตมาขายในรูปแบบที่มีหน้าร้าน (offline) ให้แก่ลูกค้าได้
ส่วนอาลีบาบาเริ่มหันมาลงทุนร้านค้าออฟไลน์มากขึ้น โดยได้นำสินค้า Private brand ที่จ้างผลิตมาขายในรูปแบบร้านออฟไลน์ที่มีชื่อว่า เถาเป่า ซินหัว (Taobao Xinhuan) เมื่อเดือน พ.ค.2560 จำนวน 3 สาขาในจีน นั่นทำให้บริษัทสามารถขายสินค้า Private brand ได้โดยตรง ส่งผลให้มีมาร์จิ้น (ส่วนต่าง) เพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปิดร้านออฟไลน์ยังเป็นการใช้โมเดลธุรกิจแบบใหม่อย่าง New Retail หรือ O2O (online to offline) ซึ่งเป็นการเชื่อมร้านค้า online เข้ากับร้านค้า offline เพื่อให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
"จะเห็นว่าเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแผ่อิทธิพลไปยังธุรกิจต้นน้ำ และลงไปยังธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น หมายถึงการเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้น"
ก่อนหน้านี้ นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่าย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงภาพรวมเอสเอ็มอีว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) สูงมาก ทำให้ยอดขายโดยรวมลดลงร้อยละ 30-40 เกือบทุกราย
โดยประเมินว่า มีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว มีเงินน้อยลง จึงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :