ไม่พบผลการค้นหา
เยอรมนีกำลังถูกทั่วโลกกดดันอย่างหนักในการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานรัสเซีย หลังสื่อหลายสำนักเปิดเผยภาพความทารุณโหดร้าย และการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเมืองบูชาของยูเครนโดยฝีมือของกองทัพรัสเซียได้รับการเปิดเผยออกมา ในขณะที่มีข้อกล่าวหาว่า เม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อพลังงานของรัสเซียจากยุโรป กำลังเป็นทุนทรัพย์เพื่อการก่อสงครามในยูเครนของรัสเซีย

เยอมรมนียังคงไม่มีมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียแต่อย่างใด เพียงแต่มีการประกาศวางแนวทางลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในระยะยาว อย่างไรก็ดี นานาชาติกำลังมองว่ามาตราการดังกล่าวของเยอรมนีอาจไม่ตอบรับกับสถานการ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่กองทัพรัสเซียได้สังหารประชาชนชาวเมืองบูชาไปแล้วอย่างน้อย 410 ราย

ศพของประชาชนชาวยูเครนในเมืองบูชาถูกฝังหมู มือถูกมัดไพล่หลัง และยิงในระยะประชิด ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายของกองทัพรัสเซียที่กระทำต่อประชาชนบริสุทธิ์ในประเทศเพื่อนบ้านของตน ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ออกมาประกาศแล้วว่า ตนกำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซียแล้ว เพื่อตอบรับกับหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเกิดอาชญากรรมสงครามขึ้นจริงในยูเครน

แรงกดดันต่อเยอรมนีถาโถมมาจากโปแลนด์และรัฐในบอลติก โดย มาเตอุส โมราวีคกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ได้ออกมาโจมตีเยอรมนีว่ากำลัง “ยืนขวางทาง” การคว่ำบาตรที่หนักหน่วงแก่รัสเซีย ก่อนจะกล่าวไปยังประเทศเพื่อนบ้านขอตนอย่างเยอรมนีว่า “ใครก็ตามที่อ่านบันทึกการประชุมของสหภาพยุโรปจะรู้ดีว่าเยอรมนีเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการคว่ำบาตรที่เด็ดขาดมากยิ่งขึ้น”

โฆษกของรัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาแถลงว่า เยอรมีจะยังคงไม่มีมาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียในทันทีทันใด แต่จะเร่งในความพยายามเพื่อที่ทำให้เยอรมนีลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียในอนาคต โดยเยอรมนีกำลังพิจารณา “การคว่ำบาตรแบบกึ่งหนึ่ง” ผ่านการ “ไม่ซื้อ” และ “มาตรการประหยัดพลังงาน” ตลอดจน "การกระจายการลงทุน" รวมถึงการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เม.ย.) โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ออกมาแถลงถึงเหตุการณ์ในเมืองบูชาของยูเครนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ถูกทิ้งให้ไร้คำตอบ ก่อนที่ตนจะเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม และสัญญาว่าเยอรมนีจะร่วมมือกับหุ้นส่วนในการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มในอนาคต 

ปัจจุบันนี้ ก๊าซที่ถูกใช้ในสหภาพยุโรปกว่า 40% นำเข้ามาจากรัสเซีย โดยเยอรมนีเป็นผู้นำเข้ามากสุดกว่า 55% นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียกว่าอีก 25% อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจในเยอรมนีระบุว่า ประชาชน 55% ถึง 77% ยินดีที่รัฐบาลเยอรมนีจะประกาศการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย ถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบกับเศรษฐกิจเยอรมนีอย่างหนัก ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมนีระบุว่าประชาชนอาจไม่เข้าใจว่าการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียจะส่งผลให้เยอรมนีพบกับหายนะมากเพียงใด

ก่อนหน้านี้ ลิทัวเนียประกาศตัดการนำเข้าก๊าซทั้งหมดจากรัสเซีย ส่งผลให้ตนกลายเป็นชาติแรกในสมาชิกสภาพยุโรปที่ประกาศตัดขาดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย โดย กิตานัส เนาเซดา ประธานาธิบดีลิทัวเนียได้ทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว เพื่อขอให้ผู้นำสหภาพยุโรปชาติอื่นๆ ประกาศคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียตามตน “ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป จะไม่มีก๊าซของรัสเซียในลิทัวเนียอีกแล้ว หลายปีที่ผ่านมา ประเทศของผมได้ตัดสินใจในวันนั้นที่จะทำให้ไม่เจ็บตัวจากการตัดปมพันธะทางพลังงานกับผู้รุกราน ถ้าเราสามารถทำมันได้ ทั้งยุโรปก็ทำมันได้เหมือนกัน!” เนาเซดาระบุ


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/apr/04/pressure-mounts-germany-embargo-russian-energy-imports?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2fD3vfY0BUG81vXGWgDd2yCXsgmemtdweGHOtccXlS9nsNV_CTYOWi_20

https://apnews.com/article/russia-ukraine-business-moscow-europe-european-union-d7bf5ec883d92a5b5b9b131ea7dcb150?fbclid=IwAR3AeXjcdNw-ew0B7rByCMYDckBH3sJDGj28nhzvh7Amrg5miK6pAPs-f0s