ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นัดรวมพลัง ‘ด้อมส้ม’ แสดงพลังเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2566 การเมืองไทยต้องเข้าสู่โหมดชี้ขาดในการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. 376 เสียง

พรรคการเมืองซีกประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกลมี 311 เสียง ยืนพื้น (ตัด วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่ต้องงดออกเสียง) เท่ากับว่า ยังต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 65 เสียง จาก ส.ว. หรือ ส.ส. จากพรรคเสียงข้างน้อย และการเล่นเกมการเมืองของขั้วอำนาจเก่าผ่านเทคนิกทางกฎหมายและข้อบังคับรัฐสภา 

การเมืองไทยช่วงห้วงโหวตนายกฯ คนที่ 30 จึงต้องจับตาการเคลื่อนไหว ต่อโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมการเมืองไทย

เพราะวันที่ 12 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ‘พิธา’ จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีถือครองหุ้นสื่อมวลชน บมจ.ไอทีวี

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. 2566 จึงต้องจับตากลเกมสกัด-ขัดขวางมิให้ฝ่าย 8 พรรคร่วมรัฐบาลลงมติโหวตเห็นชอบ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ได้สำเร็จ

 1. ทันทีที่เปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส.ว.จะใช้ช่วงหารืออ้างคดี พิธา ที่คดียังไม่สิ้นสุด ตีรวนปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ‘พิธา’ โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในที่ประชุมจะต้องเปิดให้มีการหารือ ซึ่งคาดว่าส.ส. และส.ว. ที่มาจากขั้วอำนาจเก่า จะหยิบยกประเด็นที่เคยใช้โจมตีระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีการไต่สวนของกกต. คดีหุ้น บมจ.ไอทีวี ที่ชงไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ประกอบกับข้ออ้างต่าง ๆ ที่บรรดานักร้องต่างพยายามขุดคุ้ยมาเป็นเหตุโน้มน้าว ส.ส. และ ส.ว. ให้ไม่เห็นชอบการโหวต พิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

ทั้งนี้เชื่อว่า จะมีการอภิปรายโดยหยิบยกมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ที่เปิดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. 1 ใน 10 ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพของ พิธา ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 

หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วย่อมวินิจฉัยให้ ‘พิธา’ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ หากประเมินระยะเวลาและขั้นตอน กลุ่มขั้วอำนาจเก่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลาการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 

แต่ผลที่จะเกิดขึ้น คือ การลดทอนความน่าเชื่อถือต่อตัวพิธา และเป็นการแสดงให้ ส.ส. และ ส.ว. กลุ่มขั้วอำนาจเดิมที่ประกาศยึดเจตจำนงของประชาชนและหลักการในการลงมติเห็นชอบ ‘พิธา’ หวาดหวั่นว่า อาจนำไปสู่การโมฆะและอาจมีความผิด 

พิธา ศิริกัญญา ประชุมสภา IMG_7908.jpeg

2. ให้เสนอชื่อเพียง 1 ครั้ง 

ประเด็นในช่วงการหารือ คือ แนวทางการเสนอชื่อให้ที่ประชุมลงมติซ้ำจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่มีการหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมวิปวุฒิสภาเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการระบุว่า ที่ผ่านมาในการพิจารณาของ สนช. เคยมีการตีตกรายชื่อผู้ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระบางองค์กรแล้วไม่ได้รับความเห็นชอบ จึงมีการวางแนวทางห้ามิให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ถูกตีตกไปจากที่ประชุมเสนอชื่อขอความเห็นชอบได้อีก 

แต่เมื่อพลิกรัฐธรรมนูญประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่เกี่ยวข้องแล้วจะพบว่า ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับระยะเวลาและจำนวนครั้งการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 

เกมการเมืองในส่วนนี้จึงมุ่งหวังผลทางการเมืองเช่นเดียวกับ ข้อ 1.  

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวของ ส.ว. กลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ดำรงตำแหน่งเป็น สนช. ต่อเนื่องถึง ส.ว. ชุด พ.ศ. 2562 รวมกว่า 17 ปี โดยไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก 

พิธา ศิริกัญญา ก้าวไกล ประชุมสภา IMG_7284.jpeg

3.เทคนิคการประชุมตามข้อบังคับ การเลื่อนวาระพิจารณา 

มีการคาดการณ์กันว่า กลุ่ม ส.ส. และ ส.ว. ขั้วอำนาจเก่าจะใช้เกมการเมืองจากเทคนิคของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตั้งแต่การทำให้องค์ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่ม เพื่อไม่ให้เปิดทางโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกเป็นไปอย่างง่ายโดยสามารถดำเนินการได้ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตุกติกทางการเมืองเพื่อยับยั้งการโหวตเลือกอ’พิธา’ เป็นนายกฯ ขัดต่อเจตจำนงกว่า 30 ล้านเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง 312 เสียง นั้นเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับกลุ่มมวลชนนอกรัฐสภาที่ ‘พรรคก้าวไกล’ กำลังโหมปลุกเร้าหาก ‘พิธา’ ถูกโหวตคว่ำนายกฯ

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในซีก ส.ว.ในการหาช่องทางเลื่อนวาระการประชุมออกไปหรือพักการประชุม โดยเป็นไปเพื่อทำให้การลงมติชะงักหรือสะดุด 

กลไกกลเกมทุกอย่างเป็นไปเพื่อขวาง ‘พรรคก้าวไกล’ ไม่ให้เข้าสู่อำนาจรัฐ เพราะคำหวาดกลัว เลือก ‘ก้าวไกล’ ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม