ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' ย้ำความจำเป็นสร้าง 'แลนด์บริดจ์' ชี้อนาคตการค้าโลกเติบโตอย่างมโหฬาร ยกเทียบ 'สนามบินสุวรรณภูมิ' ผลผลิตการมองการณ์ไกลจากรัฐบาลไทยรักไทย

วันที่ 24 ม.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Thailand 2024 : The Great Challenges” ถึงการสร้างโอกาสจากโครงการแลนด์บริดจ์ว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.ระนอง เมื่อวันที่ 22-23 ม.ค. ที่ผ่านมา ยืนยันว่า รัฐบาลรับฟังทุกเสียงของพี่น้องประชาชน ทั้งเสียงที่เห็นด้วย และเสียงที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบต่างๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม ชุมชนพื้นเมือง ฯลฯ 

เศรษฐา กล่าวว่า การทำโครงการแลนด์บริดจ์นั้น หากจะต้องใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด ต้องดึงให้นักลงทุนมาลงทุนในโครงการนี้ ดังนั้นไม่ใช่แค่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่รัฐบาลต้องฟังความต้องการของนักลงทุน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกรองว่า ข้อเสนอนั้นๆ เป็นบวก หรือลบกับพี่น้องประชาชน 

โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะต้องมีท่อส่งน้ำมัน หรือองค์ประกอบอื่นๆ หรือไม่ แต่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยากให้มาลงทุนในโครงการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ดังนั้นโครงการแลนด์บริดจ์มีเรื่องให้ต้องพูดคุยกันอยู่เยอะ คาดว่า อาจใช้เวลาถึง 10 ปี 

เศรษฐา กล่าวอีกว่า อยากให้มองโครงการแลนด์บริดจ์ เหมือนกับการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งตนได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และไม่มีการก่อสร้างขึ้น จนกระทั่งสมัยรัฐบาลไทยรักไทยนำโดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในขณะนั้น) ก็ทำให้มีการก่อสร้างขึ้นมาได้ ดังนั้น เราไม่ต้องจินตนาการเลย หากเรายังต้องพึ่งพาสนามบินดอนเมืองอย่างเดียว 

เศรษฐา กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรามีรัฐบาลที่เห็นโอกาส โดยไม่ใช่แค่เห็น หรือฝันอย่างเดียว แต่ลงมือทำด้วย หากวันนั้นเราฟังเสียงคัดค้านการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่มีค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ มลภาวะทางเสียง ที่ดินทำกินของประชาชน ฯลฯ แน่นอนว่า การลงทุนขนาดใหญ่ขนาดนี้ต้องมีการพูดคุยกันในทุกมิติ 

“โอกาสเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่อยากให้มานั่งเสียโอกาสกันอีก ดังนั้นเรื่องของสนามบินสุวรรณภูมิที่ก่อสร้างมา หลายท่านที่นี่ก็ได้อานิสงส์ บางท่านอายุน้อยอยู่อาจจะไม่ทราบว่า เรามีการต่อสู้กันมามากขนาดไหนกว่าจะได้มา” เศรษฐา กล่าว 

เศรษฐา กล่าวอีกว่า การลงทุนในเมกะโปรเจกต์ขนาดนี้ย่อมมีเรื่อง Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งประเทศไทยยืนยันจุดยืนเป็นกลาง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศใดในโลก ไม่ว่าจะมหาอำนาจระหว่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา-ประเทศจีน หรือกระทั่งประเทศอินเดียที่กำลังจะขยับมาเป็นประเทศมหาอำนาจอีกหนึ่งประเทศ 

เศรษฐา กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า โครงการแลนด์บริดจ์นั้น แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ และยินดีที่จะทำธุรกรรมต่างๆ กับหลายประเทศ รวมถึงการที่มีโปรเจกต์ด้านการคมนาคมจะสามารถสร้างอำนาจต่อรองให้กับทุกประเทศ ตราบใดที่ไทยเราเป็นคนควบคุมกระบวนการทั้งหมด 

เศรษฐา ย้ำว่า หากแลนด์บริดจ์สำเร็จในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณขนส่งสินค้าเท่าไหร่นั้นเป็นเพียงการคาดคะเน แต่เชื่อว่า การค้าระหว่างประเทศจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร ตลอดจนการไหลถ่ายเทของสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเรื่องของกำแพงภาษีต่างๆ ที่ลดน้อยลงไป 

“ถ้าการขนถ่ายสินค้าดีขึ้น แต่เราไม่มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีที่ และสามารถประหยัดเวลาได้จะเป็นปัญหาของโลก ดังนั้นหลายประเทศที่มองเห็นปัญหาตรงนี้ดีจะรู้ว่าจุดยืนของประเทศไทยเป็นอย่างไร และจะสร้างจุดแข็งให้กับประเทศไทยทางด้านของภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียว” เศรษฐา กล่าวย้ำ 



สานฝันเกษตรกรไทย หวังส่งออกสินค้าเกษตรฯ ไปห้างใหญ่ทั่วโลก

เศรษฐา กล่าวปาฐกถาถึงความสำคัญของภาคการเกษตรว่า การสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องของการให้องค์ความรู้ที่รัฐบาลพยายามเพื่อสนองกับนโยบายเพิ่มรายได้สามเท่าภายใน 4 ปี 

เศรษฐา กล่าวว่า ในสังคมไทยมีการจัดหลักสูตรสัมมนากันมากซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหากทำให้ถูกต้อง พร้อมยกตัวอย่าง ‘หลักสูตรรวมมิตร‘ ที่ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. เพื่อทำความเข้าใจกับสินค้าภาคการเกษตร และบทบาทของเกษตรกรในโครงการพระราชดำริ 

เศรษฐา เผยอีกว่า แม้หลายคนในหลักสูตรรวมมิตรจะยื่นข้อเสนอเซ็นต์เช็คเงินสดให้ แต่ตนได้ดักไว้ก่อนว่า ไม่ต้องการเช็คเงินสด แต่ตนต้องการความรัก และความเอาใจใส่ต่อเกษตรกร อยากให้ไปเห็นประกายในตาของเหล่าเกษตรกรว่าเป็นอย่างไรกันจริงๆ และแน่นอนว่า การซื้อสินค้าเป็นการช่วยเหลือในด้านพาณิชยกรรม แต่ด้านการตลาดก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

เศรษฐา เผยอีกว่า การลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีนักธุรกิจจากตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าระดับโลกหลายแห่ง รวมถึงในเครือเซ็นทรัลฯ ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งเรารู้ว่า การนำสินค้าไปขายในห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัลฯ ได้ก็เป็นบุญแล้ว แต่ตนอยากให้ไปไกลกว่านั้น โดยมองว่า หากสามารถนำสินค้าในโครงการพระราชดำริ หรือความฝันของชาวบ้านไปขายในห้างระดับโลกได้ เพื่อสานฝันของเกษตรกรให้เป็นความจริงได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก 

เศรษฐา ยังกล่าวถึง การปลดล็อกการทำประมงผิดกฎหมายไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้เกษตรกรหลายหมื่นครอบครัวกลับมามีความสุข พร้อมทั้งราคาสินค้าเกษตรเริ่มมีราคาสูงขึ้น เกิดจากการที่รัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่จริง ทำงานจริง เพราะเราเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เราต้องพึ่งประชาชน เราต้องเห็นใจประชาชน 

“เราพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปแทรกแซง หรือการเข้าไปสงเคราะห์เงิน อยากให้เกษตรกรทุกคนมีความภาคภูมิใจที่สินค้าเกษตรมีราคาดี มีรายได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล แต่เป็นเพราะรัฐบาลสร้างโอกาสให้กับพวกเขาทุกคน” เศรษฐา กล่าว 

ขณะที่เรื่องของพลังงานสะอาดที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เศรษฐา กล่าวว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่ไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม และมาเลเซีย เพราะเรามีพลังงานที่เพียงพออย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งเกิดจากภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ทำได้ดี รวมทั้งเรื่องราคาไฟฟ้าที่รัฐบาลกำลังพยายามดูแลในเรื่องนี้ด้วย จะยิ่งช่วยทำให้เราดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้ 

เศรษฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายในปัจจุบันนั้นมีหลายเรื่องที่ตนยังไม่ได้พูด ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิในการเลือกเพศสภาพ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่เคยทอดทิ้ง จะเห็นจากกฎหมายหลายฉบับที่เริ่มผ่านบ้างแล้ว ดังนั้นความท้าทายต่างๆ รัฐบาลเชื่อว่า สามารถเผชิญกับมันได้ เพราะเรามีความตั้งใจจริงที่อยากจะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เพื่อเป็นการสร้างฐานรากที่ดี ให้ไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว