มิลเลนเนียลในประเทศกานากำลังทำให้การเกษตรเป็นเรื่องที่ 'คูล' และมีสไตล์ โดยจำนวนหนึ่งเลือกที่จะลาออกจากงานประจำมาทำฟาร์มของตัวเองแทน พร้อมกับพยายามสร้างมุมมองที่แตกต่างและลบล้างอคติที่มีต่ออาชีพนี้
สื่ออเมริกัน The New York Times และสื่ออังกฤษ The Independent เผยแพร่บทความที่กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ในประเทศกานา ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ว่ากำลังนำเทรนด์ 'อะกริเพรอเนอ' (Agripreneur) หรือ นักลงทุนด้านเกษตรกรรม ด้วยการลาออกจากงานประจำ แล้วหันไปหาทำเลปลูกพืชผักเป็นของตัวเองแทน พร้อมทั้งระบุว่ากลุ่มคนเหล่านี้พยายามทำให้การทำฟาร์ม 'เซ็กซี่' และมีสไตล์ ตลอดจนลบล้างอคติที่มีต่ออาชีพนี้ไปพร้อมกันด้วย
วอซเบธ โคฟี อาซูมาห์ เป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์แล้วมุ่งมั่นจะเป็นเกษตรกรมาโดยตลอด แม้จะรู้สึกลำบากใจที่จะต้องบอกครอบครัวเช่นนั้นก็ตาม เพราะการเป็นเกษตรกรในกานา เช่นเดียวกับในหลายประเทศ ยังถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ไม่เจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่สะท้อนภาพลักษณ์ความลำบากยากจน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากมีมุมมองต่อวิชาชีพนี้ในเชิงบวกและเคารพวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม อาซูมาห์ก็เลือกจะทำตามความฝันนี้ พร้อม ๆ กับคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ที่ต้องการต่อสู้กับอคติแบบเดิม ๆ โดยเน้นทำฟาร์มแบบใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถิติเข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ผลผลิตดี ทำกำไรอย่างชัดเจน และปรับภาพลักษณ์การทำการเกษตรไปในตัว ซึ่งทุกคนยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะโครงสร้างพื้นฐานในหลายส่วนของประเทศยังคงล้าหลัง เช่น ถนนอยู่ในสภาพไม่ดีและระบบจัดสรรน้ำไม่ครอบคลุม
ทั้งนี้ ความฝันของคนรุ่นใหม่ในการทำฟาร์มไม่ใช่ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แต่ถือเป็นความมุ่งหวังที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลทีเดียว เนื่องจากแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ยังเหลือพื้นที่ว่างที่สามารถเพาะปลูกได้อีก 65 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ที่เหลืออยู่ทั่วโลก แต่ยังคงต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าเป็นมูลค่าถึง 27,600 ล้านปอนด์ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท ตามรายงานของธน��คารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา
สำหรับในประเทศกานาเอง การผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรถือเป็นเรื่องจำเป็น และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะเกษตรกรรุ่นปัจจุบันที่มีอยู่เริ่มแก่ตัวลง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกมีงาน แต่ไม่มีคน ขณะที่ หนุ่มสาวจำนวนมากก็หางานในเมืองใหญ่และไม่ประสบความสำเร็จ หรือก็คือภาวะมีคน แต่ไม่มีงาน และการนำกลุ่มประชากรที่ว่างงานสูงสุดมาทำธุรกิจที่ยังมีพื้นที่เติบโตอีกมากเช่นนี้ จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในแอฟริกาคือ 60 ปี ขณะที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในภูมิภาคนี้อายุไม่ถึง 24 ปี ซึ่งหากรัฐบาลแต่ละประเทศไม่เข้าแทรกแซง ปัญหาด้านแรงงานอาจสายเกินแก้ และการเกษตรภายในประเทศจะค่อย ๆ ถดถอยลง จนต้องเพิ่มการนำเข้า นำไปสู่การวางนโยบายด้านการเกษตรเพื่อคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศ
อีกหนึ่งตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ในกานา คือ เอ็มมานูเอล อันซาห์-แอมโพรฟี ที่เคยทำงานด้านกฎหมาย แต่เริ่มรู้สึกผิดหวังที่ต้องซื้อหอมหัวใหญ่นำเข้าจากฮอลแลนด์ จึงหันมาทำฟาร์มเมื่อปี 2016 โดยเริ่มจากการปลูกผักและผลไม้ทั่วไป นอกจากนี้ ยังพัฒนาแอปพลิเคชันแชร์รถแทร็กเตอร์ ช่วยลดต้นทุนการทำฟาร์ม สำหรับผู้เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ
การเติบโตด้านเทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำฟาร์ม หรือทำไร่ทำสวน ดูทันสมัยและน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยจำนวนสตาร์ตอัปด้านวิทยาการการเกษตรในแอฟริกาเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงปี 2016 ถึง 2018 ซึ่งนอกเหนือจากความก้าวหน้าในส่วนนี้แล้ว เกษตรกรยุคใหม่ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิต หรือก็คือการลดการใช้สารเคมี และการปลูกพืชแบบออร์แกนิก ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างตลาดที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย