บริษัทวิจัยเผยผลศึกษา คนไทยยังยึดหลักประเพณีนิยม แต่พร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่เต็มที่ แนะใช้โมเดล Globalthaization เจาะตลาดไทย
นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา จีเอฟเค ประเทศไทย เปิดเผยว่า การขยายตัวของสังคมเมืองและจำนวนที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ได้แก่ ค่านิยม ซึ่งผู้บริโภคในเอเชียส่วนใหญ่ ยึดหลักความสำเร็จ ต่างจากคนไทยที่มีคนกลุ่มนี้ เพียงร้อยละ 30 แต่มีจำนวนผู้ยึดหลักประเพณีนิยม ที่ให้ความสำคัญกับศาสนา วัฒนธรรม และจารีต สูงถึงร้อยละ 44
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ พบว่า ไทยใช้เวลาทำงานสูงที่สุดที่ 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และร้อยละ 75 ให้ความสำคัญกับแบรนด์ และยังพบว่า ข้อมูลที่สวนทางกับความเป็นสังคมประเพณีนิยมของคนไทย คือ ไทยติด 1 ใน 10 ตลาดเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูงที่สุดในปี 2558 และพบว่าคนไทยร้อยละ 70 ใช้สมาร์ทโฟน โดยราคาที่ถูกลงถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจจึงต้องกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับ Globalthaization หรือโลกาภิวัตน์แบบไทยที่เทคโนโลยีหลอมรวมกับความเชื่อ
จีเอฟเค คาดว่า ภายในปี 2593 ประชากรโลก ร้อยละ 75 จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่คาดว่าชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นจาก 1,800 ล้านคน เป็น 4,900 ล้านคนในปี 2573