กระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ย้ำไม่รุนแรงถึงขั้นปิดโรงงาน พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันการขาดแคลนน้ำเฉพาะหน้า และระยะยาว
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งอุตสาหกรรมจังหวัด สำรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ไม่พบโรงงานปิดตัวจากการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับผลกระทบบ้าง พร้อมขอความร่วมมืออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมาก เตรียมการรองรับวิกฤติ อาทิ ปรับปรุงกระบวนการผลิต จัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพราะคาดว่าภัยแล้งจะยาวนาน
มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมระยะสั้น อาทิ ให้โรงงานใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดี ส่วนระยะยาว เช่น เพิ่มบ่อกักเก็บน้ำสำรองในโรงงาน
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับห่วงประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และกรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับภาคการเกษตร ส่วนน้ำอุปโภคบริโภค ยืนยันมีเพียงพอจนถึงช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำ รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง ขอทุกภาคส่วนช่วยประหยัดน้ำ โดยเฉพาะภาคเกษตร ส่วนสถานการณ์ไฟป่านั้น ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เชื่อว่าปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ขอทุกฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะเมื่อเกิดขึ้นในฤดูแล้ง จะดับได้ยาก
ด้านหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 7 หน่วยทั่วประเทศ เร่งเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม มีฝนตกจากฝนหลวง 12 เที่ยวบิน คิดเป็นร้อยละ 55.6 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี และขุดบ่อบาดาลแล้ว 2,192 บ่อ ตั้งเป้าขุดให้ได้ 4,000 บ่อ ภายในเดือนเมษายนนี้
ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักวันนี้ เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การร้อยละ 8 หรือ 777 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การ 1,408 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่าง
ส่วนเขื่อนแควน้อยฯ มีน้ำใช้การ 284 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การ 369 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่าง รวม 4 เขื่อนมีน้ำใช้การ 2,838 ล้านลูกบาศก์เมตร