แม้ระบบประกันสุขภาพของไทยจะได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการคุ้มครองและช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากนับตั้งแต่มีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2001 แต่บุคลากรในแวดวงสาธารณสุขจำนววนมากสะท้อนว่าระบบยังมีปัญหาเรื้อรังที่รอการแก้ไข
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว Channel News Asia ของสิงคโปร์ รายงานว่า ปัญหาสวัสดิการด้านสุขภาพของไทยเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบ และในบางครั้งถูกนำไปเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวไม่ได้มีแค่ประชาชนที่เป็นคนไข้รอการรักษา แต่รวมถึงบุคลากรการแพทย์ที่ประสบปัญหาในการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วย
รายงานของแชนแนลนิวส์เอเชียระบุว่าในแต่ละวันจะมีคนไข้จำนวนมากเข้าแถวรอรับการตรวจรักษาตามโรงพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตชนบทห่างไกลโดยสถิติของแพทยสภาประเมินว่าไทยมีแพทย์ทั่วประเทศราว 50,000 คน แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือตามเขตเมือง ไม่ค่อยได้กระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบทมากนักยกเว้นแต่แพทย์ที่ต้องใช้ทุน
แชนแนลนิวส์เอเชียได้สัมภาษณ์นายแพทย์คนหนึ่งในจังหวัดกระบี่ซึ่งระบุว่า นอกเหนือจากการรักษาผู้ป่วยตามปกติแล้วแพทย์ยังต้องเข้าประชุมร่วมกับแพทย์ระดับอาวุโสและผู้บริหารโรงพยาบาล แต่แพทย์ที่เพิ่งจบใหม่มักจะไม่ได้รับการยอมรับความคิดเห็นมากนัก
นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงพยาบาลยังมีแนวคิดว่าแพทย์จบใหม่พร้อมจะไปจากโรงพยาบาลรัฐทันทีเมื่อหมดสิ้นภาระการใช้ทุน ซึ่งแนวคิดแบบนี้ผลักให้แพทย์จบใหม่รู้สึกแปลกแยกและไม่ผูกพันกับชุมชน ทั้งที่ในความเป็นจริงแพทย์จบใหม่หรือแพทย์ฝึกหัดต้องทำงานหนักไม่ต่างจากแพทย์ที่มีอายุงานมานาน โดยบางรายเคยมีประสบการณ์ทำงานต่อเนื่องกันถึง 26 วัน ในขณะที่แพทย์ที่มีประสบการณ์มากก็มักจะหันไปเปิดคลินิกส่วนตัว
ระบบการจัดการและบริหารบุคลากรที่ไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ ทำให้แพทย์และพยาบาลจำนวนมากต้องทำงานหนักติดต่อกัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแพทย์และพยาบาล โดยรายงานของแชนแนลนิวส์เอเชียระบุว่าแพทย์ 1 คนต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยประมาณ 1,500 คนต่อวัน ทำให้แพทย์มีเวลาน้อยในการวินิจฉัยผู้ป่วย และอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด เป็นอันตรายต่อคนไข้ ทั้งยังมีกรณีที่แพทย์ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ถึงขั้นเสียชีวิตซึ่งเป็นผลจากการทำงานหนักและไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ
ขณะเดียวกัน โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพ ยังตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองหลายครั้งว่าเป็นมรดกตกทอดของอดีตรัฐบาลที่มุ่งเน้นนโยบายประชานิยม แต่ทำให้เกิดภาระผูกพันด้านงบประมาณ เพราะประชาชนจำนวนมากคาดหวังการรักษาพยาบาลจากแพทย์ ทำให้โครงการถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว
แต่เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการจะเลิกโครงการ กลับถูกคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก รวมถึงเครือข่ายแพทย์ชนบทซึ่งสนับสนุนโครงการนี้ ทำให้มีการผลักดันให้เกิดโครงการหมอครอบครัว เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ บุคลากรการแพทย์ด้านต่างๆ และประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ให้มีการดูแลกันเองด้านสุขภาพในเบื้องต้น เพื่อลดปริมาณผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และลดปริมาณคนไข้ที่แพทย์ต้องตรวจในแต่ละวัน เพราะในบางครั้งผู้ป่วยด้วยโรคที่ไม่ร้ายแรงสามารถได้รับการรักษาพยาบาลได้ทันทีจากบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการแพทย์มาก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2016ที่ผ่านมา จึงยังไม่ได้มีการประเมินผลที่ชัดเจน