บริษัทในต่างประเทศบางแห่งเริ่มใช้การฝังไมโครชิพลงในร่างกายของพนักงานแทนการใช้บัตรพนักงาน ล่าสุดบริษัทในสหรัฐฯ เริ่มฝังไมโครชิพให้กับพนักงานซึ่งจะช่วยให้การทำงานในออฟฟิศมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม
เทคโนโลยีการใช้ไมโครชิพที่มีขนาดเล็กเท่าเม็ดข้าวสารฝังเข้าไปในร่างกายเพื่อตามหาและระบุตัวตนถูกใช้กับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงมานานแล้ว จนกระทั่งเริ่มมีแนวคิดการนำมาใช้กับมนุษย์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่นการติดไมโครชิพลงในตัวนักโทษเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือติดลงในตัวเด็กเพื่อป้องกันเด็กหาย ซึ่งก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ว่าเทคโนโลยีของไมโครชิพก็พัฒนาไปมาก จนปัจจุบันไมโครชิพสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าการติดตามตัวและระบุตัวตน เช่น สามารถบันทึกข้อมูลการเงินและใช้แทนเงินสดเวลาซื้อของ หรือใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์ต่างๆทำให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น จนบริษัทบางแห่งมีแนวคิดที่จะให้พนักงานฝังไคโครชิพแทนการใช้บัตรพนักงาน
โดยในปี 2015 บริษัท Epicenter ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ สัญชาติสวีเดน ได้เริ่มเชิญชวนให้พนักงานเข้ารับการฝังไมโครชิพแทนการใช้บัตรพนักงาน ซึ่งไมโครชิพที่ฝังในตัวพนักงานนี้ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า RFID ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการระบุสิ่งต่างๆ โดยอาศัยการปล่อยคลื่นวิทยุ ควบคู่กับ NFC ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวแบบไร้สาย เพียงแค่แตะก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งไมโครชิพจะถูกฝังอยู่ใต้ฝ่ามือตรงกลางระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆต่อร่างกาย สามารถใช้แทนบัตรพนักงานในการเปิดปิดประตู และซื้อของภายในร้านค้าของบริษัทได้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากพนักงาน โดยมีพนักงานสนใจและรับการฝังไมโครชิพด้วยความสมัครใจถึง 2,000 คน และนับว่าเป็นบริษัทแรกในโลกที่ฝังไมโครชิพให้กับพนักงาน
ล่าสุด บริษัท Three Square Market ในมลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นผู้ผลิตตู้ขายของอัตโนมัติ ก็กลายเป็นบริษัทแห่งแรกในสหรัฐฯที่จะให้พนักงานของบริษัทฝังไมโครชิพแทนการใช้บัตรพนักงาน ซึ่งไมโครชิพนี้จะช่วยให้พนักงานใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์, เครื่องถ่ายเอกสารต่างๆ, เปิดประตู และจ่ายเงินเวลาซื้ออาหารในโรงอาหารของบริษัทได้ เบื้องต้นมีพนักงานประมาณ 50 คน อาสาที่จะฝังไมโครชิพตามนโยบายบริษัท
นายท็อด เวสท์บี ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทของบริษัท Three Square Market บอกว่าไมโครชิพจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในออฟฟิซดีขึ้น เนื่องจากพนักงานไม่ต้องกังวลว่าจะลืมบัตรพนักงานไว้ที่ไหน และเขาคาดการณ์ว่าการใช้ไมโครชิพบนร่างกายมนุษย์จะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้แทนบัตรโดยสารรถไฟหรือรถบัส รวมทั้งใช้แทนหนังสือเดินทางเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ และยังมีประโยชน์ในยามฉุกเฉิน เมื่อพนักงานล้มป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ เพราะไมโครชิพจะบันทึกข้อมูลสุขภาพของพนักงานไว้อย่างละเอียด
นายเวสท์บี ยังบอกด้วยว่าไมโครชิพที่ฝังในตัวพนักงานจะไม่มีระบบจีพีเอสเพื่อติดตามตัว พนักงานจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และค่าใช้จ่ายในการฝังไมโครชิพต่อพนักงาน 1 คนอยู่ที่ประมาณ 300 ดอลลาร์ หรือประมาณ 10,000 บาท ซึ่งทางบริษัทจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด