กายภาพของเมืองมีผลต่อประชากรผู้อยู่อาศัยอย่างมาก ทั้งจนทั้งอ้วน ซ้ำร้ายยังทำให้ไม่มีแฟนอีกด้วย เป็นเพราะผังเมืองกำหนดพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเราได้
ผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “โรค” ใน “โลกคนเมือง” กับ 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 4 : Modern Syndrome เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา
“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Robert Putman ศึกษาพบว่า 1 ใน 4 ของอเมริกันชนไม่มี meaningful relationship ว่าง่ายๆ ก็คือไม่มีเพื่อน เขาพบว่า อินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญที่แยกโลกของเราออกจากกัน แต่ที่สำคัญคือวัฒนธรรมรถยนต์ เพราะวัฒนธรรมนี้มันทำให้เราอยู่แต่ในพื้นที่แคบๆ อยู่แต่ในบ้าน ขับรถไปที่ทำงาน แล้วก็ขับรถกลับบ้าน ใช้เวลานานบนท้องถนน มีตัวเลขบอกนะคะว่า 10 นาทีที่เสียไปกับการเดินทาง จะทำให้ความผูกพันทางสังคม (social ties) ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ UddC เคยค้นข้อมูลเจอว่า เวลาที่คนใช้บนถนนนานที่สุดคือ 800 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 48,000 นาที ก็ไม่รู้เราเสียความผูกพันทางสังคมกันไปกี่นาทีแล้ว”
“ถ้าถามว่ากรุงเทพฯ มีข้อเสียอย่างไร ถ้าคุณอยู่กรุงเทพ บอกเลยนะคะว่าเมืองนี้ทำให้คุณไม่มีแฟน ทำให้คุณอ้วนและจน คุณจะเอาเวลาที่ไหนไปเจอแฟนคะ คุณทำงานเยอะ แล้วคุณก็ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงบนรถส่วนตัว แล้วก็ไม่ได้เจอใคร เพราะทุกอย่างอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวหมด คุณอยู่บ้าน แล้วคุณก็ขับรถอยู่คนเดียว คุณไปอยู่ที่ออฟฟิศ ซึ่งถ้าคุณจะมีแฟนในที่ทำงานคุณก็คงมีไปนานแล้ว แต่คุณไม่มี ในเมืองที่มันแห้งแล้งมองไปทางไหนก็ไม่มีอะไรสวยเจริญหูเจริญตา ไม่มีพื้นที่สาธารณะดีๆ ให้ไปจู๋จี๋กัน คุณมีโอกาสเจอกันยากและแพงมาก ขนส่งสาธารณะก็มีแล้ว แต่มันแน่นมากจนเกินที่จะเกิดความโรแมนติก”
นอกจากนั้น ผศ.ดร. นิรมล ยังกล่าวเสริมอีกว่า การที่คนเมืองต้องเผื่อเวลาในการตื่นเพื่อไปใช้สูญเสียพลังงานกับการเดินทางทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ที่คิดเป็นมูลค่าค่าใช้จ่ายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ทำให้คนเมืองไม่มีเวลาที่จะใส่ใจและดูแลตัวเองอย่างจริงจัง เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาบริการจากเหล่าหาบเร่แผงลอยหรือร้านสะดวกซื้อทั้งหลายที่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีคุณค่าทางสารอาหารเท่าที่ควร กระทั่งการทำอาหารทานเองก็เป็นสิ่งที่คนเมืองต้องลงทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งพื้นที่สาธารณะในเมืองก็กลับเบียดเสียดไปด้วยผู้คนซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เมืองของเรายังมีพื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่
“เพราะฉะนั้นเมืองมันทำให้คุณไม่มีแฟน อ้วน และจน... กายภาพทั้งหลายมันมีผลทำให้เรารู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่ มองในแง่ของโครงสร้างไม่ได้มองในแง่ของปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นในหน่วยของชุมชนหนึ่งๆ ที่มนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคม มันหายไปแล้วจากเมืองนี้”
Source:
https://www.facebook.com/uddcbangkok/posts/1087502501382703