ธนาคารโลก ชี้ หากรัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว จะช่วยผลักดันจีดีพี ปีนี้ให้ขยายตัวได้อีกร้อยละ 1 พร้อมแนะรัฐ เพิ่มศักยภาพการผลิต หวังสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรในระยะยาว
คุณกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ชาวนาไม่ได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าวรวมประมาณ 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลต่อการใช้จ่ายของชาวนาให้ชะลอลง และมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ลดลงร้อยละ 1 แต่หากชาวนาได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าวจะทำให้ จีดีพี ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน และทำให้การใช้จ่ายในประเทศกระเตื้องขึ้นด้วย
ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา 1 ใน 3 ให้ดีขึ้น แต่โครงการนี้ทำให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณใน 2 ปีการผลิต รวม 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี
ดังนั้น เพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายนี้กระทบฐานะทางการคลัง รัฐบาลควรหาแนวทางอื่นเป็นปัจจัยเสริมช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนาแทน เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าว , พัฒนาระบบชลประทาน และปรับปรุงคุณภาพดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน
ธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคต ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะจะส่งผลดีต่อการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน แต่การดำเนินแต่ละโครงการ จะต้องมีความโปร่งใสและคุ้มทุนที่สุด เพื่อให้ตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่เหมาะสม