ในขณะที่หลายบริษัทใหญ่ทุ่มเทพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ นักวิจัยในนอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์ได้จับมือกันพัฒนา ‘เรือไร้คนขับ’ เพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกในการเดินทางทางน้ำต่อไป
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนอร์เวย์ ได้สร้างสรรค์ต้นแบบเรือเฟอร์รีขนส่งผู้โดยสารที่มีชื่อว่า ‘มิลลิแอมแปร์ (milliAmpere)’ และได้นำไปทดลองแล่นในคลองทรอนด์เฮม (Trondheim) ของนอร์เวย์
สำหรับเรือดังกล่าวติดตั้งระบบนำทางด้วยดาวเทียมและเซนเซอร์สี่ตัว ที่เชื่อมต่อกับเรดาร์ กล้องอินฟาเรด กล้องออฟติคอล และเซนเซอร์วัดระยะจากแสง ‘ไลดาร์ (LiDAR)’ ซึ่งจะช่วยในการตรวจจับคนพายเรือคายัก และสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ที่อยู่ในคลอง โดยเรือใช้พลังงานแบตเตอรี่ และสามารถชาร์จได้ที่ทั้งสองฟากของท่าเรือ
โปรเจกต์เรือไร้คนขับ ‘โรโบต (Roboat)’ เกิดจากสถาบันแก้ปัญหาเมืองแห่งอัมสเตอร์ดัม ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ซึ่งออกแบบโดยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติและสามารถประกอบได้ด้วยตัวเอง โดยโครงการนี้ลงทุนไป 25 ล้านยูโร หรือราว 950 ล้านบาท และหวังจะนำมาใช้ขนส่งคนและสินค้า รวมถึงนำมาสร้างสะพานลอยน้ำ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศที่มีคลองเป็นจำนวนมากอย่างเนเธอแลนด์ รวมถึงฟยอร์ดในนอร์เวย์
โดยนักวิจัยวางแผนให้เรือต้นแบบรุ่นใหม่ที่จะนำมาทดสอบในเดือนตุลาคมนี้ สามารถขนส่งผู้โดยสารข้ามคลองได้จำนวน 12 คน พร้อมยังขนส่งรถจักรยานและรถเข็นได้เช่นกัน