แฟชั่นพลัสไซซ์เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ คุ้นเคย จากการเติบโตอย่างน่าพอใจของตลาดในช่วงหลายปีมานี้ แต่ผู้บริโภคในจีน ที่เริ่มสนใจแฟชั่นหลากหลายแนวขึ้น กลับไม่สามารถซื้อหาสินค้ากลุ่มนี้ได้ และถือเป็นโอกาสธุรกิจที่สำคัญของนักลงทุน
จีนเป็นประเทศที่มีสินค้าและบริการหลากหลาย จนไม่น่าจะมีสินค้าไหนหรือตลาดใดที่ธุรกิจสัญชาติจีนยังไม่เข้าไปจับ แต่ล่าสุดมีรายงานที่น่าสนใจชี้ว่า ภายในธุรกิจแฟชั่น ยังมีเซกเมนต์สินค้าที่ยังถือได้ว่า 'ขาดแคลน' นั่นก็คือ เสื้อผ้า 'พลัสไซซ์' หรือ เสื้อผ้าขนาดใหญ่กว่าที่มีขายทั่วไป ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในสหรัฐฯ มาหลายปี ส่วนหนึ่งเพราะความต้องการของผู้บริโภค ท่ามกลางสังคมที่มีประชากรน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วนมากเป็นประวัติการณ์
จีนเป็นประเทศที่มีธุรกิจเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่อยู่บ้าง แต่ยังถือว่าไม่เพียงพอ และจากรูปแบบตลาดที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ที่ต้องการเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ ทำให้ช่องว่างทางธุรกิจนี้เป็นโอกาสสำคัญที่บริษัทต่าง ๆ จะทำตลาด ตั้งแต่ตอนที่คู่แข่งยังไม่มาก โดยบริษัทวิจัยตลาดค้าปลีก คอร์ไซต์ รีเสิร์ช (Coresight Research) ระบุว่าในปี 2018 จีนมีประชากรหญิงน้ำหนักเกินประมาณ 36.6 ล้านคน และน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีจำนวนถึง 43 ล้านคน ในปี 2020 ซึ่งปัจจุบัน ขนาดประชากรกลุ่มนี้ของจีนและสหรัฐฯ ไม่แตกต่างกันมากนัก
อย่างไรก็ตาม ขนาดตลาดของธุรกิจเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่ของทั้งสองประเทศกลับแตกต่างอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะขณะที่ในปีนี้ ตลาดเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่ของจีนมีมูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 150,000 ล้านบาทนั้น ข้อมูลล่าสุดในสหรัฐฯ ที่ค้นได้คือเมื่อปี 2016 ก็มีตลาดที่มีมูลค่าถึง 21,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 680,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งคอร์ไซต์ฯ คาดว่าตลาดจีนจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และน่าจะมีมูลค่า 10,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 350,000 ล้านบาท ได้ภายในปี 2020
ทั้งนี้ คอร์ไซต์ฯ ชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตลาดในปี 2020 ที่ว่า จะยังไม่พอใจกับสินค้า เนื่องจากความไม่หลากหลาย และผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางในชุมชนเมือง ยังมองหาตัวเลือกที่ fashionable คือต้องทันสมัยและหลากหลาย ขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีดีไซน์เสริมบุคลิกและเข้ากับรูปร่างด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงการผลิตเสื้อผ้าแบบที่มีในท้องตลาดอยู่แล้ว และผลิตเป็นขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นลวดลายหรือคัตติงที่ไม่เข้ากับคนรูปร่างใหญ่
ทุกวันนี้ ยังไม่มีแบรนด์แฟชั่นที่น่าเชื่อถือของจีนหันมาจับตลาดนี้ และการจับจ่ายเสื้อผ้าประเภทนี้ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่แค่เพียงออนไลน์ ซึ่งยิ่งยากต่อการเลือกซื้อให้พอดีตัวและตรงกับความต้องการ รายงานชี้ว่า หน้าร้านส่วนใหญ่ที่จำหน่ายเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่เป็นร้านท้องถิ่นที่ไม่ทันสมัย และห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมแทบไม่มีสินค้ากลุ่มนี้อยู่เลย หรือหากมีก็ไม่ได้มีคุณภาพแบบที่หาได้จากแฟชั่นไซซ์ปกติ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการในตลาดนี้เติบโต ไม่ใช่แค่จำนวนประชากรที่มีน้ำหนักเกิน แต่เป็น body image หรือ มุมมองต่อร่างกายตนเองของคนจีนยุคปัจจุบัน ที่คิดบวกและกล้าแต่งตัวตามสมัยนิยมขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะคนรุ่นใหม่เริ่มมีมาตรฐานและสไตล์ที่หลากหลายและแตกต่างจากคนยุคก่อน รวมถึงการเชื่อว่าแฟชั่นควรครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ใช่ว่าการมีรูปร่างแบบใดแบบหนึ่งต้อง 'ไม่แต่งตัว' หรือ 'ไม่หวือหวา' ยิ่งไปกว่านั้น แฟชั่นยุคนี้ยังขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่ยุคอื่นไม่มี นั่นคือ 'อินฟลูเอนเซอร์' โดยไลฟ์สตรีมเมอร์และยูทูบเบอร์เอเชียที่รูปร่างอวบ เริ่มมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ
เว็บไซต์ชอปปิงชื่อดังอย่าง เถาเป่า เริ่มมีแบรนด์ที่จับตลาดนี้โดยเฉพาะมากขึ้น แม้จะยังมี follower หรือ ผู้ติดตาม ไม่มาก แต่ก็ทำรายได้ให้แต่ละแบรนด์ต่อปีได้น่าพอใจ โดยแบรนด์ยอดนิยมหนึ่งเปิดเผยว่ารายได้ปีที่แล้วผ่านหลัก 100 ล้านหยวน หรือ 470 ล้านบาท ขณะที่ อีกแบรนด์น้องใหม่ก็มียอดสั่งซื้อต่อลูกค้า 1 ราย เฉลี่ย 500 หยวน หรือ 2,300 บาท ซึ่งสำหรับแบรนด์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2018 นับว่าไม่เลวเลย
ขณะเดียวกัน ความต้องการตลาดจีนตอนนี้ยังถือเป็นโอกาสดีที่แบรนด์ต่างชาติจะเข้ามาเปิดตลาดด้วย ซึ่งรวมถึงแบรนด์ที่เน้นลูกค้ากลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่ยังจำกัดวงอยู่ภายในตลาดตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน หรือ โอกาสพิเศษ เสื้อผ้าทั่วไป หรือ เฉพาะกลุ่ม เสื้อผ้าลำลอง หรือ ชุดชั้นใน
หากแบรนด์ต่างชาติที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้ากลุ่มนี้อยู่แล้วเลือกที่จะมาเปิดตลาดในจีน จะมีแต้มต่ออย่างมาก ในการผลิตสินค้าที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และในทางหนึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันจากภายในประเทศ และเกิดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมด้วย