รัฐสภาของอินโดนีเซีย ใช้เวลาหลายทศวรรษในการปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้มาตั้งแต่ตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ได้ออกมาเป็นร่างกฎหมาย 628 มาตรา ซึ่งคาดว่าจะมีการผ่านกฎหมายในช่วงปลายเดือนนี้
ร่างกฎหมายนี้เป็นที่ถกเถียงในหลายประเด็นว่ามีเนื้อหาละเมิดและคุกคามสิทธิสตรี ศาสนา ชนกลุ่มน้อย และความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แอนเตรียส์ ฮาร์โซโน นักวิจัยอินโดนีเซีย จากฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch) กล่าวว่าร่างประมวลกฎหมายอาญาของอินโดนีเซียฉบับนี้นับว่าเป็น 'หายนะ' ไม่เพียงต่อสตรี กลุ่มศาสนา หรือกลุ่มเพศทางเลือกเท่านั้น แต่เป็นหายนะต่อชาวอินโดนีเซียทุกคนด้วย นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติถอดกฎหมายในมาตราที่มีเนื้อหาคุกคามออกก่อนจะผ่านกฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ บางส่วนของกฎหมายที่เป็นปัญหามีดังนี้ มาตรา 414 และมาตรา 416 เป็นการเซนเซอร์การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด โดยจำกัดว่ามีแต่แพทย์และอาสาสมัครที่ได้รับมอบอำนาจเท่านั้น ที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดและการวางแผนมีบุตรได้ ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง หรือสื่อมวลชนก็ไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดได้ ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน อีกทั้งผู้ใดสนับสนุนหรือเผยแพร่ข้อมูลการคุมกำเนิด หรือมอบอุปกรณ์คุมกำเนิดแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็มีโทษปรับสูงสุด 10 ล้านรูเปียห์ (ราว 21,700 บาท) ซึ่งเทียบเท่าค่าจ้างสามเดือนของชาวอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อย
มาตรา 417 การร่วมเพศโดยไม่สมรส มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี อย่างไรก็ตาม ทางสำนักข่าวการ์เดียนรายงานว่าได้รับรายงานในวันที่ 19 กันยายนว่ามาตรานี้ถูกถอดออกในช่วงคืนวันที่ 18 กันยายน
มาตรา 419 คู่รักที่อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสตามกฎหมายนั้น ต้องโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับสูงสุด 10 ล้านรูเปียห์ (ราว 21,700 บาท) โดยผู้ที่สามารถฟ้องเอาผิดได้คือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครอง ลูก และคู่รักเอง
ตูวกู เตาฟิกุลฮาดี หนึ่งในสมาชิกสภาชี้ว่าเหตุผลที่ผู้ใหญ่บ้านสามารถร้องทุกข์ต่อกรณีดังกล่าวได้เพราะสังคมเองก็ตกเป็นเหยื่อของการคบชู้ด้วย
ทางฮิวแมนไรตส์วอตช์ อ้างข้อมูลจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (Australian Aid) ว่าคู่รักในอินโดนีเซียกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้สมรสตามกฎหมายเนื่องจากความยุ่งยากในการจดทะเบียน นั่นหมายความว่ากฎหมายใหม่นี้อาจกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของชาวอินโดนีเซียหลายล้านคน
นอกจากกฎหมายเหล่านี้ที่เป็นการล่วงล้ำความสัมพันธ์ของประชาชนแล้ว ยังมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย
มาตรา 118 ผู้ใดเผยแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี
มาตรา 304 ถึง 309 ได้มีการขยายขอบเขตของกฎหมายดูหมิ่นศาสนา โดยผู้ใดแสดงความดูหมิ่น 6 ความเชื่อทางศาสนาหลักของอินโดนีเซีย ได้แก่ อิสลาม คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ คริสต์นิกายคาทอลิก ฮินดู พุทธ และขงจื่อ มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 2 พันล้านรูเปียห์ (ราว 4.3 ล้านบาท) อีกทั้งยังมีโทษสำหรับผู้ที่ชักชวนให้ผู้อื่นเลิกนับถือศาสนาด้วย
มาตรา 219 ระบุว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์และเผยแพร่เนื้อหาโจมตีประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี ต้องโทษจำคุกสูงสุด 4 ปีครึ่ง
สํานักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่าได้รับการยืนยันจากสมาชิกสภา 4 คนว่าจะมีการผ่านประมวลกฎหมายอาญาใหม่นี้ในช่วงปลายเดือนนี้