รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
ย้อนเวลา ก่อนผู้ชุมนุม นปช.–คนเสื้อแดง ถูกไล่สังหาร สลายการชุมนุม ทั้งที่คืนวันที่ 18 พ.ค. 53 มี ส.ว. เป็นแกนกลางเจรจา แต่สุดท้าย มีคำสั่ง “ยิงประชาชน” ที่ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เรียก “ฆ่าแล้วเงียบ” แต่จะไม่หยุดทวงความยุติธรรม เชื่อเมื่อประเทศไทยมีประชาธิปไตย ความจริงจะปรากฎ
**แถมนักวิเคราะห์ Talking Thailand ชวนคุยปม “ช่อ” ตอกพิธีกรเนชั่น
ย้อนกลับไป วันที่ 18 พ.ค. 2553 สถานการณ์วันนั้นอยู่ในภาวะสุกงอม ที่จะนำไปสู่เหตุสลายการชุมนุมได้ทุกเมื่อ เพราะกำลังทหารล้อมสี่แยกราชประสงค์ไว้หมดทุกด้านแล้ว ทำให้แกนนำ นปช. ยอมเปิดการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาในขณะนั้นเป็นคนกลาง ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ยังคงปักหลักอยู่หน้าเวทีสี่แยกราชประสงค์ แกนนำ นปช. ประกาศย้ำให้รัฐบาล สั่งเจ้าหน้าที่หยุดยิงประชาชนทันที และถอนกำลังออก
ขณะที่ฝั่งรัฐบาล ระบุว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา ที่เสนอตัวเข้ามาเป็นคนกลางเจรจา และย้ำว่าที่ผ่านมา พยายามจะขอเจรจามาโดยตลอด แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปฏิเสธ ขณะที่สถานการณ์ในขณะนั้น รัฐบาลมองว่า เริ่มเกิดเหตุบานปลาย เนื่องจากมีกลุ่มผู้ก่อการร้าย แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อใช้อาวุธสงครามทำร้ายผู้บริสุทธิ์ / ดังนั้น รัฐบาลในขณะนั้น จึงประกาศจุดยืนว่า จะเข้าร่วมกระบวนการเจรจา ก็ต่อเมื่อกลุ่ม นปช. ยุติการชุมนุมเท่านั้น
ต่อมาการเจรจาก็เกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 18 พ.ค.53 เมื่อแกนนำ นปช. รับข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา ที่นำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจากับรัฐบาล โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาเป็นคนกลาง แต่ในเช้าวันที่ 19 พ.ค. 53 ก็เกิดการสลายการชุมนุม จน ส.ว.ออกมาประณาม รัฐบาล ขาดความจริงใจตั้งแต่แรก
ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ระบุถึงวาระ 10 ปี เหตุการณ์ 10 เมษา – พฤษภา ปี 53 โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ล่าสุดของประวัติศาสตร์ไทย ในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากงูเห่าและถูกจัดการโดยขุนศึก ขุนนาง
ด้านประชาชน นอกจากถูกปราบปรามเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด โดยถูกรุมยิง ซุ่มยิง เหมือนการล่าสัตว์ที่ถูกล้อมจำกัดพื้นที่ไว้นั่นเอง ดังฉายา “รุมยิงนกในกรง” ของนายพลกองทัพไทยเองให้ไว้ ยิ่งกว่านั้น ประชาชนยังถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยการถูกประณามว่าเป็นพวกควายของนักการเมือง เป็นพวกถูกจ้างมาชุมนุม เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมือง ถึงไม่ยกย่องเขาเป็นวีรชน แต่ในฐานะประชาชนมือเปล่ามาเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็ไม่ควรถูกกระทำเยื่องนี้จากผู้เห็นต่างทางการเมือง
และนี่คือสิ่งที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีคนตายโดยการถูกปราบปราม ใช้อาวุธจริง ยิ่งกว่าต่อสู้กับข้าศึกมารุกรานจากประเทศอื่น ในสงครามเขาก็ไม่ให้ฆ่าหรือยิงข้าศึกผู้ไม่มีอาวุธ แต่นี่หัวใจทำด้วยอะไร จึงกระทำต่อพี่น้องประชาชนได้เยี่ยงนี้ ต่อให้เขาคิดไม่ตรงกัน การยิงคนมือเปล่าและการซุ่มยิง มันไม่เห็นเป็นปฏิบัติการแบบสากลตรงไหน (ถาม ป.ป.ช.) และยังอยู่ดีมีตำแหน่งใหญ่โตทั้งทางราชการและการเมือง นี่จึงต้องสร้างวาทกรรมว่าประชาชนเหล่านี้มีกองกำลังอาวุธ เป็นคนเลวที่สมควรถูกฆ่าทิ้ง!!!
10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรดีขึ้นทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ที่บ่งบอกว่าประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกต้องและมีอนาคต ตรงข้าม...สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะผู้ปกครองอยู่ในอำนาจจากการทำรัฐประหารได้เกินกว่า 5 ปี และสืบทอดมาเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยปลอม ๆ มีรัฐธรรมนูญล้าหลัง และการเมืองล้าหลังไปกว่า 70 ปี
ประชาชนจึงต้องทวงถามความยุติธรรมและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบ (ฆ่าแล้วเงียบ) เราแน่ใจว่าตราบใดที่ประเทศนี้ยังไม่มีประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน ความยุติธรรมและการทำความจริงให้ปรากฏ ยังเกิดขึ้นไม่ได้!!
เราจะตามหาและทวงถามความจริง ความยุติธรรมกันต่อไป ไม่ใช่เพื่อคนตายเฉพาะพลเรือนร่วมร้อยคน หรือเฉพาะคนบาดเจ็บพลเรือนกว่าสองพันคน ไม่ใช่เพื่อคนเสื้อแดงและนปช. แต่เราจะเรียกร้องเพื่อประชาชนไทยทั้งหมด เพื่ออนาคตการเมืองไทยจะได้ก้าวไปข้างหน้า เพื่ออนาคตที่ประชาชนไทยทั้งหมดจะได้อยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องมีผู้ถืออาวุธและคำสั่งฆ่าคนไทยด้วยกันต่อไป ให้ความจริงและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือของประชาชน ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงในชัยชนะของชนชั้นนำไทยเช่นที่ผ่านมา
เราไม่อาจจัดงานรำลึกที่มีการนัดหมายในสถานที่เดียวกันได้ เพราะยังมีสถานการณ์เฝ้าระวัง COVID-19 แต่ให้ท่านผู้อ่าน, ท่านผู้ชม ติดตามทางเพจ และยูทูป ยูดีดีนิวส์ – UDD news, ทวิตเตอร์, บล็อก (udd-news.blogspot.com) ในวันที่ 19 พฤษภานี้ และเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ พร้อมสถานีออนไลน์อื่น ๆ